fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

เช็กลิสต์! พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 12 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้น

พัฒนาการเด็ก

เช็กลิสต์! พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 12 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้น

โดย : หมอคู่คิดส์ | 13 มีนาคม 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight 

  • พัฒนาการเด็ก 4 ด้านหลัก ได้แก่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่, พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก,  พัฒนาการด้านภาษาและพัฒนาการด้านสังคม
  •  วิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ทำได้อย่างไรบ้าง?
  • ช่วง 1-12 เดือน พัฒนาการเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมและถูกต้อง
  • หากพัฒนาการไม่เป็นไปตามช่วงอายุ คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการกระตุ้นก่อนได้ 
  • หลาย ๆ ครั้งที่เด็กมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย เกิดจากการที่ยังไม่ได้รับการกระตุ้นและลองทำที่มากพอ
ฟรี! บันทึกกิจกรรมรายวันของลูกน้อยเพื่อประเมินเรื่องพัฒนาการลูกเบื้องต้น ได้ที่แอปฯ หมอคู่คิดส์
หมอคู่คิดส์ บันทึกกิจกรรมรายวันลูก_2

พัฒนาการเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดช่วง 1-12 เดือน 

ช่วงแรกเกิดถึง 12 เดือน พัฒนาการเด็กจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่สำรวจและเช็กลิกสต์พัฒนาการลูกน้อยไปพร้อม ๆ กันอย่างละเอียด ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 12 เดือน โดยเน้นพัฒนาการเด็ก 4 ด้านหลัก ได้แก่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่, พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก,  พัฒนาการด้านภาษาและพัฒนาการด้านสังคม 

พัฒนาการเด็ก 4 ด้าน ตามแต่ละช่วงวัย แบ่งเป็น?

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูและกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้เหมาะสมตามวัยได้ หมอคู่คิดส์ขออธิบายพัฒนาการ 4 ด้านที่ต้องเช็กกันก่อน มีอะไรบ้างนั้น ไปดูกัน!

1. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (GM : Gross Motor) ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อช่วงลำตัว แขน ขา ใช้สำหรับการทรงตัว การเคลื่อนไหว ลุกยืน นั่ง เดิน คลาน
2. พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (FM : Fine Motor) ทักษะการควบคุมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อมือ นิ้วมือ สายตาใช้สำหรับการหยิบจับสิ่งของ การเขียน วาดรูป ตัดกระดาษ เปิดหนังสือ
3. พัฒนาการด้านภาษา (L: Language) ทักษะความเข้าใจ และใช้ภาษา ใช้สำหรับการสื่อสาร การพูดคุย
4. พัฒนาการด้านสังคม (PS : Personal and Social) ทักษะการเข้าสังคม และการควบคุมอารมณ์

ฟรี ประเมินพัฒนาการและเช็กการเติบโตของลูกได้แล้ววันนี้ที่แอปฯ หมอคู่คิดส์

พัฒนาการเด็ก

พัฒนาการเด็กช่วงอายุแรกเกิดถึง 1 เดือน

พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM

นอนคว่ำ ยกศีรษะเงยขึ้นจากที่นอนและหันไปด้านใดด้านหนึ่งได้ ผู้ปกครองสามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการจัดท่าให้นอนคว่ำ แล้วนำของเล่นที่มีเสียงมาเขย่า จากนั้นเคลื่อนไปแต่ละด้านเพื่อให้เด็กมองตาม

พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM

มองตามได้ถึงกึ่งกลางลำตัว สามารถกระตุ้นได้โดยใช้วิธี จัดท่าให้นอนหงาย ก้มมองเด็กเคลื่อนใบหน้าจากตรงกลางไปด้านข้างอย่างช้า ๆ ให้เด็กมองตาม หรือสามารถใช้ของเล่นสีสันสดใสมากระตุ้นให้สนใจ และมองตามได้ 

พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน : ด้านภาษา L

  • สะดุ้งหรือเคลื่อนไหวร่างกายเมื่อได้ยินเสียงพูดคุยในความดังปกติ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการจัดท่าเด็กให้นอนหงาย เรียกชื่อหรือพูดคุยทางด้านข้างด้วยความดังกว่าปกติ แล้วค่อย ๆ ลดเสียงที่ใช้พูดลงจนอยู่ในระดับปกติหากเด็กมีปฏิกิริยาตอบสนอง 
  • ส่งเสียงอ้อแอ้ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการทำเสียงพูดคุยสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อให้เด็กสนใจ แล้วส่งเสียงตอบ

พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน : ด้านสังคม PS

มองจ้องหน้านาน 1-2 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการพูดคุย ยิ้ม ทำหน้าต่าง ๆ เพื่อให้เด็กสนใจมองจ้องหน้า

พัฒนาการเด็ก1เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 2 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 2 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM 

นอนคว่ำ ยกศีรษะตั้งขึ้นได้ 45 องศา นานอย่างน้อย 3 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ จัดท่านอนคว่ำ งอศอก ให้เด็กค่อย ๆ มองตามใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ที่เคลื่อนขึ้นไปด้านบน เพื่อให้เด็กเงยศีรษะจนยกขึ้น นับ 1-3 จากนั้นเคลื่อนหน้าลง แล้วค่อย ๆ เคลื่อนหน้าขึ้นให้สูงขึ้น จนเด็กสามารถยกศีรษะได้ 45 องศา 

สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้านนี้ได้ด้วยการนำของเล่นมีเสียง หรือสีสันสดใส เพื่อให้เด็กสนใจและมองตาม

พัฒนาการเด็กอายุ 2 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM

มองตามผ่านกึ่งกลางลำตัว สามารถกระตุ้นได้โดยใช้วิธี จัดท่าให้นอนหงาย เคลื่อนใบหน้าผ่านกึ่งกลางลำตัวเพื่อให้เด็กมองตาม หากยังไม่มองตามให้ประคองใบหน้าเด็กให้หันมอง หลังจากที่เด็กจ้องใบหน้าแล้ว ให้นำของเล่นสีสันสดใส กระตุ้นให้เด็กมองของเล่น แล้วเคลื่อนของเล่นผ่านกึ่งกลางลำตัว 

พัฒนาการเด็กอายุ 2 เดือน : ด้านภาษา L

  • หันมามองใบหน้าผู้พูดได้นาน 5 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ สบตาหรือพูดคุยให้เด็กสนใจ หยิบของเล่นสีสันสดใสมาใกล้ ๆ หน้า กระตุ้นให้เด็กมองของเล่น หากเด็กมองแล้วให้นำของเล่นออก
  • ทำเสียงอืออาในลำคอ สามารถช่วยกระตุ้นโดยการพูดคุยให้เด็กสนใจ จากนั้นทำเสียงอู/อือ/อาในลำคอให้เด็กได้ยิน แล้วหยุดรอจังหวะให้ส่งเสียงตาม 

พัฒนาการเด็กอายุ 2 เดือน : ด้านสังคม PS

ยิ้มตอบหรือส่งเสียงตอบได้ เมื่อพ่อแม่ยิ้มและพูดคุยด้วย สามารถช่วยกระตุ้นได้โดย มองตาแล้วพูดคุยกับเด็กเป็นประโยคสั้น ๆ ซ้ำ ๆ ช้า ๆ จากนั้นหยุด เพื่อรอจังหวะให้เด็กยิ้มหรือส่งเสียงตอบ

พัฒนาการเด็ก 2 เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 3-4 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 3-4 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM

นอนคว่ำยกศีรษะและอกพ้นพื้น สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ จัดท่านอนคว่ำ งอศอก ให้คุณพ่อคุณแม่พูดคุย เมื่อเด็กมองตาม ลองค่อย ๆ เคลื่อนหน้าขึ้นไปด้านบน เพื่อให้เด็กยกศีรษะโดยมือยันพื้นลักษณะแขนเหยียดตรง และอกพ้นพื้น สามารถช่วยกระตุ้นเพิ่มเติมได้ ได้โดยการนำของเล่นมีเสียง หรือสีสันสดใส เพื่อให้เด็กสนใจและมองตาม

พัฒนาการเด็กอายุ 3-4 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM

มองตามสิ่งของที่เคลื่อนที่ได้เป็นมุม 180 องศา สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ ก้มหน้ามองเด็ก จากนั้นเคลื่อนใบหน้าไปทางซ้าย แล้วทำซ้ำแต่เปลี่ยนไปเป็นด้านขวา เพื่อให้เด็กมองตาม หากยังไม่มองตามให้ประคองใบหน้าเด็กให้หันมองตาม สามารถช่วยกระตุ้นเพิ่มเติมได้ ได้โดยการนำของเล่นมีเสียง หรือสีสันสดใส เพื่อให้เด็กสนใจและมองตาม

พัฒนาการเด็กอายุ 3-4 เดือน : ด้านภาษา L

  • หันตามเสียงได้ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการเขย่าของเล่นให้ดู จากนั้นเคลื่อนไปทางด้านข้างโดยไม่ให้เห็น รอจนเด็กหันมาตามเสียง 
  • ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เพื่อแสดงความรู้สึก สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ มองสบตาเด็ก แล้วพูดด้วยเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ 

พัฒนาการเด็กอายุ 3-4 เดือน : ด้านสังคม PS

ยิ้มทักคนคุ้นเคย สามารถช่วยกระตุ้นโดยการยิ้มและพูดคุยกับเด็กระหว่างที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ อุ้มเด็กไปหาคนในครอบครัว ยิ้มและทักคนคุ้นเคยให้เด็กดู และพูดกระตุ้นบอกให้ยิ้มทัก ให้เด็กทำตาม

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน
พัฒนาการเด็ก 4 เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 5-6 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 5-6 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM 

ยันตัวขึ้นจากท่านอนคว่ำ โดยเหยียดแขนตรงทั้ง 2 ข้างได้ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ จัดให้อยู่ในท่านอนคว่ำ ถือของเล่นไว้เหนือศีรษะเด็กด้านหน้า เรียกให้เด็กมองของเล่น แล้วเคลื่อนให้สูงขึ้นช้า ๆ เพื่อให้เด็กยกศีรษะตาม โดยที่มือยันพื้น แขนเหยียดตรง จนหน้าอกและท้องพ้นพื้น

พัฒนาการเด็กอายุ 5-6 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM 

เอื้อมมือหยิบและถือวัตถุไว้ ขณะอยู่ในท่านอนหงาย สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ จัดท่าให้นอนหงาย เขย่าของเล่นห่างจากตัวเด็กในระยะที่เอื้อมถึง หากเด็กไม่เอื้อมหยิบ ให้นำของเล่นมาแตะเบา ๆ ที่หลังมือ หรือจับมือเด็กให้มาหยิบ ทำซ้ำ ๆ จนกว่าเด็กจะเอื้อมหยิบเอง 

พัฒนาการเด็กอายุ 5-6 เดือน : ด้านภาษา L

  • หันตามเสียงเรียก สามารถกระตุ้นได้โดยการ นั่งอยู่ด้านหลังเด็ก พูดคุยด้วยเสียงปกติ จนเด็กหันมาตามหาเสียง ให้ยิ้มและเล่นด้วยเมื่อเด็กหันมา หากไม่หันตาม ให้ประคองใบหน้าให้หันมามอง
  • เลียนแบบการเล่นทำเสียงได้ สามารถกระตุ้นได้โดยการสบตาและพูดคุยกับเด็ก ใช้ริมฝีปากทำเสียงต่าง ๆ หรือเดาะลิ้น หรือจับมือเด็กมาวางที่ปาก แล้วออกเสียงให้ดูหลาย ๆ ครั้ง จนเลียนเสียงตาม สามารถใช้เพลงง่าย ๆ ที่มีเสียงสูงต่ำชัดเจน เปิดให้เด็กฟังได้

พัฒนาการเด็กอายุ 5-6 เดือน : ด้านสังคม PS

สนใจฟังคนพูด และสามารถมองไปที่ของเล่นที่ผู้ปกครองเล่นกับเด็ก สามารถกระตุ้นได้โดยการจับเด็กนั่งหันหน้าเข้าหาคุณพ่อคุณแม่ เรียกชื่อและสบตา พูดคุยกับเด็ก แล้วนำของเล่นมาอยู่ในระดับสายตา พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับของเล่น

พัฒนาการ 5 เดือน
พัฒนาการ 6 เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 7-8 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 7-8 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM 

  • นั่งได้มั่นคง และเอี้ยวตัวหรือหมุนตัวไปหยิบของเล่น แล้วสามารถกลับมานั่งตัวตรงได้ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการจัดให้อยู่ในท่านั่ง วางของเล่นไว้ที่พื้นข้างตัว เยื้องไปด้านหลัง ในระยะที่เอื้อมถึง เรียกให้เด็กสนใจของเล่น เพื่อให้เอี้ยวตัวไปหยิบ หากยังทำไม่ได้ ให้ขยับของให้ไกล้ขึ้นเล็กน้อย แล้วช่วยจับแขนให้เอี้ยวไปหยิบ ทำซ้ำสลับกัน 2 ข้าง จนสามารถทำได้เอง
  • เกาะยืนที่เครื่องเรือนสูงระดับอกได้นาน 10 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ จัดให้เด็กยืนเกาะคุณพ่อคุณแม่ หรือเครื่องเรือน โดยเริ่มจับสะโพกเด็กเพื่อช่วยพยุง ต่อมาเปลี่ยนมาจับที่เข่า แล้วจึงจับมือมาเกาะเครื่องเรือน เมื่อเริ่มทำได้ให้เด็กเกาะเอง

พัฒนาการเด็กอายุ 7-8 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM 

จ้องมองไปที่หนังสือพร้อมกับที่ผู้ปกครองชี้ชวน พูดด้วย นาน 2-3 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ อุ้มเด็กนั่งบนตัก เปิดหนังสือแล้วชี้ชวนให้ดูรูปภาพ พร้อมพูดคุย หากเด็กไม่สนใจ ให้ประคองใบหน้ามองภาพในหนังสือ

พัฒนาการเด็กอายุ 7-8 เดือน : ด้านภาษา L

  • หันตามเสียงเรียกชื่อ สามารถช่วยกระตุ้นโดยการเรียกชื่อบ่อย ๆ ด้วยเสียงปกติ หากในช่วงแรกยังไม่หัน สามารถช่วยประคองใบหน้าให้หันมามองเวลาเรียกชื่อ จนสามารถหันได้เอ
  • เลียนเสียงพูดคุย สามารถช่วยกระตุ้นโดยการพูดคุย ออกเสียงให้เด็กเลียนเสียงตาม เป็นคำง่าย ๆ หรือออกเสียงตามทำนองเพลงเด็ก

พัฒนาการเด็กอายุ 7-8 เดือน : ด้านสังคม PS

เล่นจะเอ๋ได้และมองหน้าผู้เล่นได้ถูกทิศทาง สามารถกระตุ้นโดยการเล่นจ๊ะเอ๋กับเด็ก โดยเริ่มจากใช้มือปิดหน้า จากนั้นเปลี่ยนเป็นผ้า หยุดรอจังหวะให้เด็กหันมามองหรือยิ้มโต้ตอบ 

พัฒนาการ 7 เดือน
พัฒนาการ 8 เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 9 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 9 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM 

  • ลุกขึ้นนั่งได้จากท่านอน ฝึกกระตุ้นได้โดยการ จัดท่าให้นอนคว่ำ จับเข่างอ 2 ข้าง จับมือเด็กทั้ง 2 ข้างยันพื้น กดสะโพกทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้เด็กยันตัวลุกขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง
  • ยืนอยู่ได้โดยใช้มือเกาะเครื่องเรือนสูงระดับอก สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการ จัดให้เด็กยืนเกาะคุณพ่อคุณแม่ หรือเครื่องเรือน โดยเริ่มจับสะโพกเด็กเพื่อช่วยพยุง ต่อมาเปลี่ยนมาจับที่เข่า แล้วจึงจับมือมาเกาะเครื่องเรือน เมื่อเริ่มทำได้ให้เด็กเกาะเอง โดยไม่ใช้หน้าอกพิงหรือท้าวแขน

พัฒนาการเด็กอายุ 9 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM

  • หยิบก้อนไม้จากพื้นและถือไว้มือละชิ้น สามารถช่วยกระตุ้นโดยนำวัตถุสีสดใสเคาะกับโต๊ะทีละชิ้น เพื่อกระตุ้นให้หยิบ ถ้ายังไม่หยิบ ช่วยจับมือเด็กให้หยิบ
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่น ๆ หยิบของขึ้นจากพื้น สามารถช่วยกระตุ้นโดยนำวัตถุสีสดใส ชิ้นเล็ก ๆ วางตรงหน้า หยิบให้ดู แล้วกระตุ้นให้หยิบ หากยังทำไม่ได้ ให้จับมือช่วยจนทำได้เอง 

พัฒนาการเด็กอายุ 9 เดือน : ด้านภาษา L

  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เมื่อใช้ท่าทางประกอบ สามารถช่วยกระตุ้นโดยการเล่นกับเด็กโดยใช้คำสั่งง่าย ๆ พร้อมทำท่าประกอบ เช่น ตบมือ บ่อย ๆ จนทำตามได้ หากยังไม่ทำ ให้ลองจับมือทำ 
  • รู้จักปฏิเสธโดยแสดงท่าทาง สามารถช่วยกระตุ้นโดย หากมีคนแปลกหน้าให้ของ ให้ผู้ปกครองปฏิเสธ ส่ายหน้า พูดคำว่าไม่เอา ให้เด็กเลียนแบบ หรือสถานการณ์อื่น ๆ เช่น เมื่อเด็กกินอิ่ม ให้ถามว่าจะกินเพิ่มไหม แล้วตอบว่าไม่กิน พร้อมส่ายหน้า
  • เลียนเสียงคำพูดที่คุ้นเคยได้อย่างน้อย 1 เสียง สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการออกเสียงที่เด็กเคยทำได้แล้ว จากนั้นให้เด็กพูดตาม แล้วเริ่มพูดคำที่แตกต่างจากเดิมให้มากขึ้น

พัฒนาการเด็กอายุ 9 เดือน : ด้านสังคม PS

ใช้นิ้วหยิบอาหารกินได้ สามารถช่วยกระตุ้นได้โดยการวางอาหารที่หยิบง่ายและเด็กชอบ จับมือเด็กให้หยิบอาหาร แล้วลองให้ทำเอง

พัฒนาการเด็ก9เดือน

พัฒนาการเด็กช่วงอายุ 10 – 12 เดือน

พัฒนาการเด็กอายุ 10 – 12 เดือน : กล้ามเนื้อมัดใหญ่ GM 

ยืนได้นาน 2 วินาที สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ พยุงลำตัวให้ยืน เมื่อเริ่มทรงตัวได้ ค่อยปล่อยให้ยืนเอง

พัฒนาการเด็กอายุ 10 – 12 เดือน : กล้ามเนื้อมัดเล็ก FM 

จีบนิ้วมือเพื่อหยิบของชิ้นเล็ก สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ หยิบอาหารชิ้นเล็กให้ดู แล้วให้เด็กหยิบตาม ถ้ายังทำไม่ได้ ลองจับนิ้วอื่น ๆ ไว้ ให้เด็กเหลือนิ้วโป้งและนิ้วชี้ในการหยิบของ

พัฒนาการเด็กอายุ 10 – 12 เดือน : ด้านภาษา L

  • ตบมือตามคำสั่ง สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ พูดคำสั่งแล้วทำท่าประกอบเวลาเล่นกับเด็ก หากยังทำเองไม่ได้ เริ่มจากการจับมือให้ทำจนกว่าจะทำเองตามคำสั่งได้
  • แสดงความต้องการโดยทำท่าทางหรือเปล่งเสียง สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ นำของที่ชอบมาวางให้เด็กเลือก รอจนกว่าเด็กจะแสดงความต้องการ จึงจะให้ของ

พัฒนาการเด็กอายุ 10 – 12 เดือน : ด้านสังคม PS

เล่นสิ่งของตามประโยชน์องสิ่งของได้ สามารถช่วยกระตุ้นโดยการ ฝึกใช้สิ่งของง่าย ๆ ตามสถานการณ์ เช่น หวี แปรงสีฟัน หรือเล่นบทบาทสมมุติกับตุ๊กตาแล้วกระตุ้นให้เด็กทำตาม

พัฒนาการเด็ก10เดือน
พัฒนาการเด็ก11เดือน
พัฒนาการเด็ก12เดือน

หากพัฒนาการเด็กไม่เป็นไปตามวัย เช็กฟรีที่หมอคู่คิดส์

หากพัฒนาการไม่เป็นไปตามช่วงอายุ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองกระตุ้นตามวิธีการที่เขียนอธิบายไว้ข้างต้น เนื่องจากหลาย ๆ ครั้งที่เด็กยังไม่สามารถทำได้ เกิดจากการที่ยังไม่ได้รับการกระตุ้นและลองทำ หากกระตุ้นแล้วพัฒนาการเด็กยังช้ากว่าอายุ แนะนำให้ปรึกษาหมอและแพทย์ได้ที่หมอคู่คิดส์ แอปหมอเด็กออนไลน์ เรามีกุมารแพทย์จากรพ. ชั้นนำทั่วไทย ให้ปรึกษา สอบถามได้ตลอดทั้งวัน ได้ทั้งแชทและวิดีโอคอล 

 หรือจะลองประเมินพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้ในแอปของเรา เพียงกรอกน้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วน ฯลฯ ของลูก ใช้ง่าย ใช้ฟรี ให้พ่อแม่ได้เฝ้าดูการเติบโตของพวกเขาตลอดทุกเดือน!  iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม