fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

RSV ไวรัสตัวร้าย ภัยอันตรายของลูกน้อย

โรคติดเชื้อ RSV_1

RSV ไวรัสตัวร้าย ภัยอันตรายของลูกน้อย

โดย : หมอคู่คิดส์ | 18 กันยายน 2023 | บทความทางการแพทย์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย : พญ. กวิตา ตรีเมธา กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ

ในช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงที่ต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ ด้วยสภาพอากาศและปัจจัยต่างๆ จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส แต่โดยส่วนมากแล้วมักเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza), พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza), อะดีโนไวรัส (adenovirus) ,ไรโนไวรัส (rhinoviruses) และที่พบได้บ่อย คือ เชื้อไวรัส RSV โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ถือเป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งของน้องๆ หนูๆ เลยก็ว่าได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักเชื้อไวรัส RSV ให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันและช่วยดูแลลูกน้อยได้อย่างทันท่วงที

RSV คืออะไร

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก ทำให้เป็นหวัดไปจนถึงหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ โดยส่วนมากแล้วประมาณ 80% จะก่อโรคในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มักระบาดในช่วงฤดูฝนไปจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว สำหรับประเทศไทยได้แก่ เดือนสิงหาคม ถึง เดือนธันวาคม

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ในเด็ก

อาการในช่วงแรกจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล บางรายอาจมีอาการถ่ายเหลว ซึ่งในรายที่ไม่รุนแรงจะสามารถหายเองได้ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตน้องได้จากอาการเหล่านี้

– ไข้สูง หอบเหนื่อย ไอมาก
– หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงครืดคราด
– ซึม ไม่เล่น ไม่กินน้ำ ไม่กินนม ไม่กินอาหาร

กรณีที่รุนแรงมากขึ้นเกิดจากการลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง (เชื้อลงปอด) หรือหลอดลมส่วนปลายและปอดอักเสบนั่นเอง ดังนั้นหากพบว่าลูกน้อยมีอาการเบื้องต้นดังที่กล่าวไป คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาน้องไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยให้รักษาและติดตามอาการได้เร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

ไวรัส RSV ติดต่อได้อย่างไร

ไวรัส RSV ติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงได้แก่ผ่านละอองฝอยจากการไอจาม ส่วนทางอ้อมตือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสเกาะอยู่ เช่น พิ้นผิวของของใช้ หรือของเล่น ทั้งนี้ไวรัส RSV สามารถเกาะบนพื้นผิวได้เป็นเวลานาน ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV สามารถแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วัน หลังจากมีอาการ แต่ในเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจแพร่กระจายเชื้อได้นานกว่านั้น เคยมีรายงานนานที่สุดถึง 4 สัปดาห์

โรคติดเชื้อ RSV_2

การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

ในปัจจุบันโรค RSV ยังไม่มีการรักษาจำเพาะ เพราะยังไม่มียาต้านไวรัส RSV ดังนั้นการรักษาหลักเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การใช้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ล้างจมูก หรือในบางครั้งอาจจำเป็นต้องพ่นยาขยายหลอดลม แต่ไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ หากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
เราจะป้องกันไม่ให้ลูกติดเชื้อ RSV ได้อย่างไร

ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์เพื่อให้ภูมิส่งผ่านไปให้ทารกที่เกิดมา แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ฉีดป้องกันให้เด็กโดยตรง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจการดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตประจำวันอย่างถูกสุขลักษณะ โดยข้อแนะนำมีดังนี้

– หากสามารทำได้ ควรให้น้องดื่มนมแม่ อย่างน้อย 6 เดือน ในเด็กวัยอื่นๆควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
– สร้างเสริมให้ลูกล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำสบู่ ด้วยวิธีที่ถูกต้องจนเป็นนิสัย
– เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
– ทำความสะอาดบ้าน ของใช้ ของเล่น ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
– กรณีมีเด็กป่วย ให้แยกออกจากผู้ที่ยังไม่ป่วย
– หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด หากมีความจำเป็นควรให้เด็ก (ที่อายุ 2 ปีขึ้นไป) สวมหน้ากากอนามัย
– ไม่พาเด็กไปอยู่ใกล้คนป่วยหรือคนที่กำลังเป็นหวัด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่

ข้อสงสัยอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับโรค RSV

ได้เรียนรู้ถึงอาการ การติดต่อ การรักษา และการป้องกันการติดเชื้อ RSV กันไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับไวรัสตัวร้ายตัวนี้กันอยู่ เราเลยรวบรวมข้อสงสัยอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้มาฝากเพิ่มเติมกันอีก ดังนี้

เราจะแยกโรค RSV กับไข้หวัดธรรมดาได้อย่างไร?

สำหรับเด็ก หากอาการไม่รุนแรง จะเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่หากมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ได้แก่ มีไข้สูง 39 องศาขึ้นไป หรือไข้สูงจนชัก หอบเหนื่อย หายใจมีอกบุ๋ม ไม่ยอมกินหรืออาเจียนมากจนอ่อนเพลีย อาจตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื้อ RSV ได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย โดยการตรวจร่างกายและตรวจหาเชื้อด้วยการเก็บน้ำมูกในโพรงจมูก (Swab) เหมือนการตรวจโควิด-19

เด็กที่ติดเชื้อ RSV แล้ว มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่

– ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 35 สัปดาห์)
– เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน
– ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต
– ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น
– ผู้ที่เป็นโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
– ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การมีประวัติสัมผัสควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และหลังเกิด

มีกระแสข่าวว่าการดื่มนมวัวจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV และหากติดแล้วจะมีอาการรุนแรง จริงหรือไม่

ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มนมวัวกับการติดเชื้อ RSV และความรุนแรงของโรค แต่มีงานวิจัยพบว่าทารกที่ได้รับนมแม่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ RSV น้อยกว่า

โรคติดเชื้อ RSV_3

หากเป็นโรค RSV แล้ว ต้องไปพบแพทย์เมื่อไร?

หากพบว่าลูกมีอาการไข้สูง ซึม กินได้น้อยลง หายใจเหนื่อย หรือตัวเขียว ถือเป็นสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาน้องไปพบแพทย์โดยด่วน
อาการแบบไหนที่ต้องนอนโรงพยาบาล?

สำหรับอาการของโรค RSV ที่ต้องนอนโรงพยาบาล มีดังนี้

– มีการหายใจลำบาก หยุดหายใจ หรือภาวะหายใจล้มเหลว
– ภาวะขาดน้ำ หรือกินไม่ได้
– เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง
– ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลลูกได้

หากลูกเป็นโรค RSV จำเป็นต้องหยุดเรียนไหม?

ในช่วงที่น้องป่วยควรหยุดเรียน งดการไปที่สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานที่ชุมชนที่มีความแออัด นอกจากนี้ยังควรงดไปพบปะกับเด็กคนอื่นหรือผู้สูงอายุ ควรแยกตัวลูกไว้จนกว่าจะหาย เมื่อแน่ใจว่าหายดีแล้ว จึงสามารถไปเรียนได้ตามปกติ

ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อ RSV ได้ไหม?

จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการโรค RSV ในผู้ใหญ่มักไม่ต่างจากไข้หวัด แต่ในกลุ่มเสี่ยงอาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เป็นปอดอักเสบได้เช่นกัน

โรคติดเชื้อ RSV_4

สรุปเรื่องราวของโรค RSV

ฤดูฝนถือเป็นฤดูที่มาพร้อมโรคภัยต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ตัวร้าย ที่ถือเป็นภัยอันตรายของลูกน้อยอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการล้างมือและสุขลักษณะโดยรวม เพื่อช่วยป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากไวรัส RSV

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่สังเกตอาการของลูกแล้วยังไม่แน่ใจว่าใช่โรคติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ สามารถปรึกษาเบื้องต้นได้กับผู้เชี่ยวชาญในแอปฯ หมอคู่คิดส์ ที่มีทั้งหมอเฉพาะทางและพยาบาลมากประสบการณ์ คอยให้แนะนำผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล

ดาวน์โหลดแอปฯ “หมอคู่คิดส์” ได้แล้ววันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

อ้างอิง :

  • Colosia A, Costello J, McQuarrie K, Kato K, Bertzos K. Systematic literature review of the signs and symptoms of respiratory syncytial virus. Influenza and Other Respiratory Viruses. 2023 Feb;17(2):e13100.
  • แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก พ.ศ. 2562 โดย สมาคมโรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  • Mineva GM, Purtill H, Dunne CP, Philip RK. Impact of breastfeeding on the incidence and severity of respiratory syncytial virus (RSV)-associated acute lower respiratory infections in infants: a systematic review highlighting the global relevance of primary prevention. BMJ global health. 2023 Feb 1;8(2):e009693.

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม