fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

โรคอีสุกอีใส โรคฮิตสุดคลาสสิกที่ป้องกันได้

โรคอีสุกอีใส_1

โรคอีสุกอีใส โรคฮิตสุดคลาสสิกที่ป้องกันได้

โดย : หมอคู่คิดส์ | 13 กันยายน 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3)
– โรคนี้มักเกิดขึ้นในกลุ่มเด็ก แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย
– ติดต่อได้ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงสารคัดหลั่งต่างๆ
– อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด จากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นทั่วร่างกาย
– ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเด็กควรฉีด 2 ครั้ง
– แม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ เป็นกลุ่มที่ยังไม่ควรรับวัคซีน

โรคอีสุกอีใส_1

โรคอีสุกอีใส ถือเป็นอีกหนึ่งโรคฮิตสุดคลาสสิกที่เราได้ยินกันมานาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงเคยผ่านประสบการณ์การเป็นโรคนี้กันมาแล้วตั้งแต่สมัยเด็ก สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กที่มักเป็นกันเยอะ อีกทั้งยังเกิดได้ตลอดทั้งปี และมีการระบาดมากในช่วงที่อากาศหนาว

โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร

โรคอีสุกอีใส หรือ Chickenpox เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3) ถือเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่าย และยังเป็นเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคงูสวัดอีกด้วย สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยโดยตรง และการหายใจเอาละอองฝอย เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วยด้วย

โรคอีสุกอีใส_2

อาการของโรคอีสุกอีใส เป็นอย่างไร

อาการเริ่มต้นของโรคอีสุกอีใส หลังจากที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มแสดงออกภายใน 10-21 วัน ตามด้วยอาการที่คล้ายกับโรคไข้หวัด ดังนี้

– มีไข้ 1-2 วัน

– ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว

– เบื่ออาหาร

– อาจมีการถ่ายเหลวร่วมด้วย

พร้อมกับมีอาการคัน และมีผื่นแดงขึ้น โดยระยะของตุ่มที่ขึ้นบนผิวหนัง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

1. ตุ่มแดงเริ่มขึ้นจากลำตัว ใบหน้า ลามไปที่แขนและขา
2. ตุ่มแดงกลายเป็นตุ่มใส
3. จากนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นตุ่มขาว จนตกสะเก็ด และค่อยๆ หลุดไป

โรคอีสุกอีใส_3

ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใส เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ไหม

จริงๆ แล้วภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใสมักพบได้น้อย โดยเฉพาะในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่ภูมิต้านทานต่ำ แล้วมีอาการรุนแรงอาจทำให้ปอดบวม หรือมีภาวะสมองอักเสบ รวมไปถึงกลุ่มแม่ตั้งครรภ์ ถ้าเป็นโรคอีสุกอีใสในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้ เรียกว่า “กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด” (Congenital varicella syndrome) ทำให้มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ตาเล็ก ต้อกระจก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ถ้าเป็นในระยะก่อนคลอด 5 วัน หรือหลังคลอด 2 วัน อาจทำให้ทารกที่เกิดมาเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงได้

ส่วนผู้ป่วยที่ที่หายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสอาจหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทต่างๆ จนทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ เมื่อภูมิต้านทานร่างกายของคนนั้นลดลง หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ

โรคอีสุกอีใส_4

การรักษาและการดูแล

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสมักมีอาการที่ไม่รุนแรง และสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส ส่วนการดูแลผู้ป่วย มีดังนี้

– ควรพักผ่อนและดื่มน้ำให้มากๆ

– ดูแลแผลให้สะอาด

– ไม่เกาหรือแกะแผล และควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเกา

– อาบน้ำให้สะอาด แต่ไม่ควรใช้น้ำอุ่น เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้ง

– สามารถใช้ยาทา เช่น คาลาไมน์ เพื่อลดอาการคันได้

– หากมีไข้ สามารถกินยาพาราเซตามอลได้

– เน้นกินอาหารประเภทโปรตีน เพื่อให้มีภูมิคุ้นกันโรค

– เลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น จนกว่าแผลจะตกสะเก็ด

– รักษาความสะอาดของใช้รอบตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

โรคอีสุกอีใส_5

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคอีสุกอีใส คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถช่วยป้องกันได้ 70-85% เป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี และการป้องกันโรคอีสุกอีใสแบบที่มีอาการรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 95 โดยในประเทศไทยมีทั้งวัคซีนเดี่ยว (Varicella Zoster Virus: VZV) เป็นวัคซีนที่ป้องกันเฉพาะโรคอีสุกอีใส และวัคซีนรวม (Mumps Measles Rubella Varicella Vaccine) เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคอีสุกอีใสไว้ในเข็มเดียวกัน

เด็กควรฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสตอนไหน

เด็กที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรฉีดวัคซีน 2 ครั้ง

– ครั้งที่ 1 : แนะนำให้ฉีดตอนอายุประมาณ 12-18 เดือน

– ครั้งที่ 2 : ฉีดห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

บุคคลที่ไม่ควรได้รับวัคซีน

– ผู้ที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์

– ผู้ที่ฉีดวัคซีนอีสุกอีใส ไม่ควรตั้งครรภ์ในช่วง 1 เดือนแรก หลังจากฉีดวัคซีน

– ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง

– ผู้ที่มีไข้ ควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน

นอกจากนี้หมอคู่คิดส์ยังมีบริการฟรีภายในแอปฯ “บันทึกวัคซีนลูกน้อย” ที่เปรียบเสมือนเป็นไดอารีในมือถือ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้บันทึกทุกวัคซีนที่ลูกต้องฉีดในแต่ละช่วงวัย พร้อมบริการแจ้งเตือนเมื่อถึงช่วงอายุที่ลูกต้องฉีดวัคซีน หมดปัญหาการลืม จบทุกความกังวลใจ

ข้อมูลเพิ่มเติม : https://morkookids.com/track-vaccine-for-child/

บริการบันทึกวัคซีนลูก_หมอคู่คิดส์

สรุปเรื่องโรคอีสุกอีใสในเด็ก

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดเชื้อที่มีอาการที่สังเกตได้ง่าย และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง การฉีดวัคซีนถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคนี้ และสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ การดูแลรักษาอาการและการปฏิบัติตามแนวทางสุขอนามัยที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยหายดีเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม