4 โรคชื่อไม่คุ้นหู ที่หนูๆ ก็เป็นได้
4 โรคชื่อไม่คุ้นหู ที่หนูๆ ก็เป็นได้
โดย : หมอคู่คิดส์ | 3 ตุลาคม 2024 | บทความทางการแพทย์
Highlight
– โรคเฮอร์แปงไจนา มีลักษณะคล้ายโรคมือ เท้า ปาก แต่โรคนี้จะมีแผลที่ปากเท่านั้น
– โรคคาวาซากิ อาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด แต่จะมีไข้สูงนาน จากนั้นจะนำไปสู่การเกิดหลอดเลือดอักเสบทั่วร่างกาย
– โรค TICS หรือภาวะกล้ามเนื้อกระตุกเกิดขึ้นเองแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก
– อะดีโนไวรัส เชื้อที่ส่งผลให้เกิดโรคในหลายระบบของร่างกาย สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้
หากพูดถึงโรคที่พบบ่อยในเด็ก เรามักจะนึกถึงโรคติดต่อทั่วไปอย่างไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคระบบทางเดินหายใจ แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายโรคมากๆ ที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ แต่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นอาการป่วยของลูกน้อยได้เช่นกัน บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ 4 โรคที่ชื่อไม่ค่อยคุ้นหู แต่เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้
1. โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก จริงๆ แล้วเป็นโรคที่พบได้กับคนทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก แต่สำหรับโรคเฮอร์แปงไจนาจะมีแผลที่ปากเท่านั้น
โรคเฮอร์แปงไจนาสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมากับมือ น้ำ อาหาร ภาชนะ ของเล่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือวัสดุต่างๆ ผ่านเข้าทางปาก แต่โรคนี้มักไม่มีอาการรุนแรง สามารถหายเองได้ใน 7-10 วัน พบบ่อยในช่วงที่มีอากาศชื้นหรือฤดูฝน (ประมาณเดือน พ.ค.-ส.ค.)
อาการของโรคเฮอร์แปงไจนา
– มีไข้สูงเฉียบพลัน 38.5-40 องศา
– ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
– มีแผลในปาก เป็นแผลเล็กๆ ในหลายบริเวณ เช่น เพดานปาก ต่อมทอนซิล ผนังคอด้านหลัง
– กินอาหารได้น้อย หรือเบื่ออาหาร
*ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และหากลูกน้อยหายใจหอบหรือชัก ให้รีบพบแพทย์ด่วน*
การรักษาโรคเฮอร์แปงไจนา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ จึงเน้นการรักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ทายารักษาแผลในปาก กินอาหารจืด อ่อน และย่อยง่าย
การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจนา
– ดูแลสุขอนามัยอยู่เสมอ
– กินอาหารร้อน ปรุงสุก
– หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
– หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
– ทำความสะอาดบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่น
– สำหรับเด็กโต หากมีอาการป่วย ควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย
2. โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)
เรียกอีกอย่างว่าโรคหัดญี่ปุ่นในเด็ก พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด และยังไม่ทราบถึงเชื้อที่ก่อโรค โดยอาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัดแต่มักจะมีไข้สูงนาน จากนั้นจะเกิดการอักเสบที่นำไปสู่หลอดเลือกอักเสบทั่วร่างกาย
อาการของโรคคาวาซากิ
– มีไข้สูงและไม่ลดลง นานเกิน 5 วัน
– ปากแดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
– ตาแดง (ไม่มีขี้ตา)
– ริมฝึปากแห้งแดง แตกลอก
– มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
– มือหรือเท้าบวมแดง
– ผิวหนังลอก
– คลำได้ก้อนที่คอ (แต่กดไม่เจ็บ)
*หากมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ*
การรักษาโรคคาวาซากิ
1. ให้ยาแอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดในช่วงแรก และเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในช่วงต่อมา
2. ให้ยาอิมมูโนโกลบุลินทางหลอดเลือด เพื่อลดโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง
3. ติดตามอาการด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ
*ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน*
3. โรค TICS (ติกส์)
โรคติกส์ หรือภาวะกล้ามเนื้อกระตุกที่เกิดขึ้นเองแบบที่ไม่ได้ตั้งใจและควบคุมลำบาก พบมากในเด็กอายุ 3-7 ปี อาการมักจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็วและหายไปเร็ว แต่อาจจะเกิดซ้ำได้อีก โดยไม่มีแบบแผนและจังหวะที่แน่นอน ซึ่งบริเวณที่เกิดอาการกระตุกอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
อาการกล้ามเนื้อกระตุกนี้มักพบที่บริเวณใบหน้า ลำคอ และไหล่ นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น มีเสียงแปลกๆ ออกมาจากปาก โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาการเหล่านี้ถือเป็นปกติสำหรับโรคติกส์ ที่มีทั้งอาการกระตุกของกล้ามเนื้อและการออกเสียงผิดปกติร่วมกัน
โรคติกส์ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือการเรียนรู้ของเด็ก แต่อาจส่งผลให้รู้สึกรำคาญหรือกระทบต่อบุคลิกภาพได้ หากเด็กโตเกิน 10 ขวบ เขาอาจรับรู้ได้ก่อนที่อาการจะเกิด เช่น รู้สึกคันหรือระคายเคืองบริเวณนั้นก่อน
สาเหตุของโรค TICS
สำหรับโรค TICS หรือภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากผลการศึกษาพบว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือสารสื่อประสาทในสมอง รวมถึงอาจเกิดจากความเครียดหรือตื่นเต้นเกินไป ก็สามารถส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
อาการของโรค TICS เป็นอย่างไร
– กะพริบตาถี่ๆ
– ยักคิ้ว
– ขยับปาก
– พยักหน้า
– แขนขากระตุก
– ยักไหล่
บางรายอาจมีการเปล่งเสียงที่ผิดปกติ กระแอม พูดคำซ้ำๆ หรือพูดคำหยาบคาย นอกจากนี้บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนของกล้ามเนื้อ เช่น จับจมูก แคะจมูก แลบลิ้น กระโดดโดยไม่ทรายสาเหตุ ไปจนถึงการตีตัวเอง
การรักษาและการดูแลเด็กที่เป็นโรค TICS
– พักผ่อนให้เพียงพอ
– พยายามอย่าให้เด็กเครียด
– ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและคนรอบข้าง ว่าอาการกล้ามเนื้อกระตุก เป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ
– ปรับพฤติกรรมในเด็กที่โตขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ก็จะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ โดยกินยาเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงหรือตามที่แพทย์แนะนำ ไม่จำเป็นต้องกินตลอด
4. อะดีโนไวรัส (Adenovirus)
ปิดท้ายกันที่เชื้อไวรัสที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันมากนักกับไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ที่สามารถส่งผลให้เกิดโรคได้หลายระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเสีย ตาแดง พบบ่อยในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี ซึ่งความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล
ไวรัสอะดีโนสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้หลายวิธี เช่น การสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ การแพร่กระจายทางละอองฝอย การไอจามรดกัน การติดต่อผ่านทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากนี้ยังติดต่อทางการสัมผัสโดยอ้อมได้จากสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเชื้อไวรัสอะดีโนจะมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 30 วัน
อาการจากการติดเชื้อ
– ไข้สูง 5-7 วัน
– ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ เสียงแหบ
– นอนกรน
– ตาแดง เจ็บตา น้ำตาไหล
– เบื่ออาหาร
– ท้องเสีย
*หากเด็กอายุ 3 เดือนติดเชื้อไวรัสอะดีโน อาจมีอาการรุนแรง ถ้าเด็กซึมลง ไม่ดื่มน้ำหรือนม ควรรีบพาไปพบแพทย์*
การรักษาและการดูแล
หากติดเชื้อไวรัสอะดีโนแล้ว จะเน้นการรักษาตามอาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มไวรัสที่ยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยพ่อแม่ควรดูแลลูกน้อยให้พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ช่วยดูดจมูกหรือล้างจมูก หรือให้กินยาลดไข้
การป้องกัน
– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
– ดูแลความสะอาดภายในบ้าน
– เช็ดโต๊ะ เก้าอี้ หรือของเล่นลูกอยู่เสมอ
– ไม่ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อ
– สอนให้ลูกปิดจมูก เวลาไอหรือจาม
– หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
*สำหรับการกำจัดเชื้อโรคตามพื้นผิวต่างๆ ควรใช้ความร้อน สบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ*
สรุปโรคที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่เด็กก็เป็นได้
ในปัจจุบันมีโรคภัยไข้เจ็บหรือเชื้อต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้มากมาย บางครั้งเราก็อาจตามไม่ทันกับภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับลูกน้อย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรดูแลลูกน้อยอยู่เสมอ ให้ลูกกินอาหารให้ครบตามหลัก พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีอาการน่าสงสัยให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือไปพบแพทย์ทันที จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android