วิธีเล่นกระตุ้น เสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึงหกเดือน
วิธีเล่นกระตุ้น เสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึงหกเดือน
โดย : หมอคู่คิดส์ | 17 พฤษภาคม 2024 | บทความแม่และเด็ก
Highlight
- “การเล่น” จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของสมองได้ดี เสริมพัฒนาการเด็กได้ดี
- การเล่นกับลูกเป็นกิจกรรมทางใจ เติมเต็มความรัก ความผูกพันในครอบครัว
- หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเรียนรู้ว่า พวกเขาเป็นใคร ใครคือคนสำคัญในชีวิตเขา
- แจก! วิธีเล่นกับลูกเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิดถึงหกเดือน ทำตามง่าย
- ฟรี! เช็กพัฒนาการเด็กและการเจริญเติบโตของลูกได้แล้ววันนี้ ที่แอปฯ หมอคู่คิดส์
สำหรับเด็กแรกเกิด “การเล่น” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมพัฒนาการเด็กในด้านต่าง ๆ ให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ระบบความคิด อารมณ์ การสื่อสาร การจดจำและช่วยส่งเสริมจินตนาการให้กว้างไกล ทั้งยังเป็นกิจกรรมทางใจที่ช่วยเติมเต็มความรัก ความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่บางครอบครัวมองข้าม ทว่าทรงพลัง เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเรียนรู้ว่า พวกเขาเป็นใคร ใครคือคนสำคัญในชีวิตเขา และเขาเองเหมาะสมกับที่ใดในโลก
นอกจากเรื่องพัฒนาการที่จะได้แล้ว การเล่นยังเป็นบทเรียนเล็ก ๆ ที่สร้างความเข้าใจใหม่ให้กับลูกได้อย่างเข้าใจง่าย อย่างการเล่นจ๊ะเอ๋ จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเรียนรู้ได้ว่า เมื่อคุณหายไป สุดท้ายคุณเองก็จะกลับมาหาเขาอีก และจะเป็นเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ ทั้งยังช่วยให้ลูกเติบโตมาพร้อมความมั่นใจ กล้าที่จะสำรวจและเรียนรู้เกี่ยวกับโลกต่อไป
เล่นแล้วได้เรื่อง! กระตุ้นสมอง เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก
Robert Myers ผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาเด็กและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด้าน Human Behavior at the University of California, Irvine School of Medicine เผยว่า การเล่นกับลูกตั้งแต่วัยแรกเกิดจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของสมองได้ดี ช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็ว จากการสัมผัสสิ่งของและการได้เจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ พ่อแม่เองควรเตรียมสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นและแปลกใหม่ ให้พวกเขาได้สำรวจและเรียนรู้อยู่เสมอ
นอกจากจะได้ประโยชน์กับพัฒนาการลูกแล้ว ทุก ๆ ครั้งที่พ่อแม่เองทำกิจกรรมกับลูก เราเองจะกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดีขึ้นโดยไม่รู้ตัว เวลาไปหาหมอหรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการลูก เราเองจะกลายเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลที่ดีกับแพทย์ บอกได้หมดว่าลูกมีอาการแบบนี้ พูดคำนี้ไม่ชัด มีพฤติกรรมแบบไหนที่น่ากังวล เรียกว่าตอบคำถามแพทย์ได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับลูกอย่างไม่ลังเล ในทางกลับกัน หากคนเป็นพ่อแม่ไม่ได้เล่นหรือใช้เวลากับลูกด้วยตัวเอง บางอย่างเราคงไม่สามารถให้ข้อมูลกับหมอได้อย่างรอบด้าน
เมื่อเรื่องเล่นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป…ยิ่งเล่น ยิ่งได้ ยิ่งช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
พัฒนาการเด็ก 4 ด้าน ตามแต่ละช่วงวัย
ช่วงแรกเกิดถึง 12 เดือน พัฒนาการเด็กจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นพัฒนาการเด็ก 4 ด้านหลัก ได้แก่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่, พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก, พัฒนาการด้านภาษาและพัฒนาการด้านสังคม
แต่ละวัย แต่ละเดือนก็เด็กก็จะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องพัฒนาทั้ง 4 ด้าน บางช่วงวัยอาจจะพัฒนาเด่น ๆ แค่ 2 ด้าน การประเมินพัฒนาการลูก จึงต้องอาศัยปัจจัยจากหลาย ๆ องค์ประกอบเข้าด้วยกัน ดังนั้น พ่อแม่ควรพูดคุยปรึกษาแพทย์โดยตรงจะมั่นใจได้ที่สุด
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (GM : Gross Motor) ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น กล้ามเนื้อช่วงลำตัว แขน ขา ใช้สำหรับการทรงตัว การเคลื่อนไหว ลุกยืน นั่ง เดิน คลาน
- พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (FM : Fine Motor) ทักษะการควบคุมของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กล้ามเนื้อมือ นิ้วมือ สายตาใช้สำหรับการหยิบจับสิ่งของ การเขียน วาดรูป ตัดกระดาษ เปิดหนังสือ
- พัฒนาการด้านภาษา (L: Language) ทักษะความเข้าใจ และใช้ภาษา ใช้สำหรับการสื่อสาร การพูดคุย
- พัฒนาการด้านสังคม (PS : Personal and Social) ทักษะการเข้าสังคม และการควบคุมอารมณ์
ฟรี! เช็ก! พัฒนาการเด็กและการเจริญเติบโตของลูกได้แล้ววันนี้ ที่แอปฯ หมอคู่คิดส์
หรืออ่านบทความเพิ่มเติม เช็กลิสต์! พัฒนาการเด็กแรกเกิดถึง 12 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้น
แจก! วิธีเล่นกับลูก เสริมพัฒนาการเด็ก ตั้งแรกเกิดถึง 6 เดือน
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 1 เดือน
- จับนอนคว่ำ
- อ่านนิทาน ร้องเพลง หรือขณะที่อุ้มลูกแนบหน้าอก คุณพ่อคุณแม่จะพาทารกเต้นเบา ๆ แล้วโยกไปตามจังหวะเพลงก็ได้ จากงานวิจัยยืนยันว่า ดนตรีเป็นผลดีอย่างมากกับเด็ก ยิ่งในวัยเบบี๋ยิ่งตอบสนองได้ดีในดนตรีที่มีจังหวะสม่ำเสมอ ช่วยในเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์
- จ้องหน้า 1-2 วินาที
- ถีบจักรยานอากาศ
- กอด พูดคุยกับลูกน้อยของคุณขณะป้อนนม แต่งตัวและอาบน้ำ
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 2 เดือน
- นอนคว่ำ งอศอก 3 วินาที
- หลอกล่อของเล่นสีสันสดใส
- สบตาหรือพูดคุยบ่อย ๆ
- ร้องเพลง / อ่านหนังสือ โดยใช้เสียงที่แตกต่างกันสำหรับตัวละครที่แตกต่างกันหรือสร้างเสียงของสัตว์ต่าง ๆ เพื่อดูการตอบสนอง ซึ่งจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการพูดกับทารกแรกเกิดด้วยระดับเสียงสูงต่ำ รวมถึงการออกเสียงที่เกินจริง เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจทารกได้มากที่สุด ทั้งยังช่วยให้ทารกเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูด
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 3 เดือน
- จั๊กจี้ เป่าลมใส่ท้องเบา ๆ
- เขย่าของเล่นไปมาอย่างช้า ๆ เพื่อให้เด็กมองตาม และเรียกความสนใจ จากนั้นขยับของเล่นจากด้านหนึ่งไปอีกด้านโดยกระตุ้นให้พวกเขามองตามไปด้วย สิ่งนี้จะช่วยพัฒนา ทักษะการติดตามการมองเห็น และทักษะการสังเกต
- หัดพลิกคว่ำ พลิกหงาย
- ฝึกเอื้อม ฝึกจับของ
- เริ่มวางของเล่นไว้รอบ ๆ ลูกน้อย เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 4 เดือน
- สบตาเด็ก แล้วพูดด้วยเสียงสูงต่ำ
- อาบน้ำกับลูก
- ฝึกนั่ง หาของหนุน (หลัง/ขาแม่/หมอนหนุนหลัง) แล้วให้ลูกน้อยของคุณมองไปรอบ ๆ หรือให้ของเล่นดูขณะทรงตัว
- เล่นเลียนแบบ เสียง สีหน้า หรือใช้การเล่นแบบ “ตอบแทน” เช่น ยิ้มเมื่อลูกน้อยของคุณยิ้ม และเลียนแบบเสียงของลูกกลับ
- เล่นกับกระจก ให้ลูกน้อยเห็นภาพสะท้อนในกระจก จากนั้นถามว่า “นั่นใคร?” ทำซ้ำไปมา โดยเปลี่ยนภาพสะท้อนแล้วถามซ้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อทักษะมองเห็นและเพิ่มพัฒนาการทางสังคมของทารก
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 5 เดือน
- ฝึกเอื้อมหยิบ ในท่านอนหงาย
- ของเล่น Cause & Effect บีบ/เขย่าแล้วมีเสียง หรือกดแล้วเด้ง
- เดาะลิ้น เลียนเสียง ออกเสียงซ้ำ ๆ ให้เด็กทำตาม
- เปิดเพลงที่มีโทนเสียงสูงต่ำ เด็กจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ยินเสียงเพลงในโทนที่ไพเราะและนุ่มนวล โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภาษาที่เขาคุ้นเคย
- จับลูกบอล วางและหมุนไปมา โดยการทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเรียนรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เคลื่อนไหวอย่างไร
วิธีเล่น เสริมพัฒนาการเด็ก 6 เดือน
- เล่นจ๊ะเอ๋
- นั่งรถเข็นเด็ก พาเที่ยว
- จับเด็กนั่งหันหน้าเข้าหาตัว เรียกชื่อสบตา พูดคุย
- เขย่าของเล่นสีสันสดใส ให้เด็กเอื้อมจับ
- ชี้ชวนลูกให้ดูสิ่งต่าง ๆ แล้วพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งนั้น
- อ่านหนังสือ ร้องเพลงและท่องบทกลอนด้วยกัน เด็กทารกจะเพลิดเพลินกับหนังสือผ้า แผ่นพับ และตุ๊กตาในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน
สรุปวิธีกระตุ้น เสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิดถึงหกเดือน
หากมองลงไปให้ลึกกว่า “การเล่น” เป็นเรื่องของการให้เวลา การเล่นเป็นเพียงกิจกรรมให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาทำความเข้าใจ เรียนรู้ลูกด้วยความรักอย่างเต็มหัวใจ จะมีวิธีการเลี้ยงลูกไหนที่ดีไปกว่าการให้เวลากับพวกเขาได้อย่างเต็มที่ และทุก ๆ ครั้งของการเล่น อย่าลืมสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ ว่าเป็นไปตามวัยไหม มีส่วนไหนต้องกระตุ้นเพิ่มหรือช้าลง อย่าลืมว่าเด็กในวัยนี้ยังสื่อสารชัดเจนไม่ได้ พ่อแม่ต้องคอยสังเกตและคอยเป็นกระบอกเสียงให้ลูกอยู่เสมอ ที่สำคัญเวลาลูกน้อยทำอะไรดีก็อย่าลืมชม หรือยิ้มให้กำลังใจพวกเขา หรือถ้าทำพลาดก็อย่าโมโหหรือดุพวกเขาจนเกินไป
ทิ้งท้ายไว้อีกนิด ปัจจุบันสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า นั่นก็คือการปล่อยให้เด็กดูจอก่อนวัยที่เหมาะสม อย่าจบปัญหาง่าย ๆ ด้วยการสร้างปัญหาในระยะยาว พ่อแม่ยุคใหม่ต้องระวังเรื่องนี้ด้วย
คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android