fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

รู้จัก Shaken Baby Syndrome เมื่อการเขย่าลูก อันตรายกว่าที่คิด

Shaken Baby Syndrome_1

รู้จัก Shaken Baby Syndrome เมื่อการเขย่าลูก อันตรายกว่าที่คิด

โดย : หมอคู่คิดส์ | 19 กรกฎาคม 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
Shaken Baby Syndrome คือ ภาวะที่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เกิดจากการจับลูกเขย่าแรงๆ
– ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองและระบบประสาท
– สามารถเกิดขึ้นได้หลายอาการ เช่น ตาบอด พัฒนาการช้า ชัก หรือเสียชีวิตได้
– วิธีป้องกันคือการอุ้มลูกให้ถูกวิธี และไม่เขย่าลูกเมื่อต้องการเล่น หรือโมโหลูก

Shaken Baby Syndrome_1

ลูกน้อยวัยทารกบอบบางกว่าที่คิด บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความระมัดระวังในการเล่นกับลูก หากเผลอเล่นกับลูกแรงๆ หรือมีการเขย่าลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจมีผลเสียหรือผลร้ายตามมาแบบที่ไม่คาดคิด เช่น ภาวะ Shaken Baby Syndrome ซึ่งในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอาการนี้กันให้มากขึ้น

Shaken Baby Syndrome คืออะไร

Shaken Baby Syndrome คือ ภาวะสมองกระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นจากการถูกเขย่าอย่างรุนแรง โดยกลุ่มอาการนี้มักเกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งหากเป็นเด็กช่วงวัย 2-4 เดือนแรก ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเด็กทารกที่มีภาวะนี้มักถูกอุ้ม เล่น หรือเขย่าตัวอย่างรุนแรง ทำให้สมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองและระบบประสาท เนื่องจากทารกยังมีเส้นเลือดในสมองที่ไม่แข็งแรง

Shaken Baby Syndrome อันตรายอย่างไร

นอกจากภาวะ Shaken Baby Syndrome จะส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองและระบบประสาทของทารกตัวน้อยแล้ว ยังอาจส่งผลอื่นๆ ต่อน้องได้อีกมากมาย อาทิ

– ดวงตาพิการ / ตาบอด

– พัฒนาการช้า

– เส้นเลือดเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด

– เป็นอัมพาตในสมอง

– เกิดอาการชัก

– อาจเสียชีวิตได้

Shaken Baby Syndrome_2

อาการ Shaken Baby Syndrome เป็นอย่างไร

อาการ Shaken Baby Syndrome ถือเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอยู่ในร่างกาย คุณพ่อคุณแม่จึงอาจสังเกตถึงความผิดปกติของน้องได้ยากกว่าโรตที่มีบาดแผลภายนอก รวมถึงการแสดงอาการของ Shaken Baby Syndrome ยังอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่

อาการทางสมองและระบบประสาท

– ชัก

– หมดสติ หรือไม่ตอบสนอง

– หายใจผิดปกติ หรือหยุดหายใจ

– ซึมลง

– ตาเหล่ หรือม่านตาขยายไม่เท่ากัน

– กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการทางตา

– เลือดออกในจอประสาทตา

– ตาบอด หรือการมองเห็นผิดปกติ

อาการทางร่างกายอื่นๆ

– อาเจียน

– กินนมไม่ได้ หรือปฏิเสธอาหาร

– หงุดหงิดง่าย

– ซึมเศร้า

อาการทางระยะยาว

– พัฒนาการล่าช้า

– ปัญหาการเรียนรู้

– ปัญหาพฤติกรรม

– อัมพาต หรือพิการทางสมอง

– โรคลมชัก

– ตาบอด

คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ หากพบอาการข้างต้นเหล่านี้ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที ไม่เช่นนั้นภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้

Shaken Baby Syndrome_3

วิธีป้องกัน Shaken Baby Syndrome

การป้องกันภาวะ Shaken Baby Syndrome เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงและไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งวิธีป้องกันหลักๆ คือคุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการอุ้มลูกให้ถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

– อุ้มเด็กให้แนบขนานไปกับลำตัว พร้อมใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและลำตัวของลูก

– มืออีกข้างหนึ่ง ใช้ประคองลำตัว จะช่วยป้องกันลูกหงายหลังและหล่นจากมือพ่อแม่ได้

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ไม่ควรทำเด็ดขาดก็คือ ไม่ควรเล่นกับลูกแบบรุนแรง เช่น แกว่ง โยน หรือเขย่าลูก หากลูกร้องไห้ควรใช้วิธีปลอบที่ถูก หรือหากคุณพ่อคุณแม่โมโหแล้วต้องการลงโทษก็ควรใช้วิธีที่ถูกต้องเช่นกัน ไม่ควรปลอบหรือลงโทษด้วยการเขย่าอย่างรุนแรง

วิธีจัดการกับเด็กที่ร้องไห้ไม่หยุด

ในบางครั้งที่เด็กร้องไห้ไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกหงุดหงิดและสิ้นหวัง แต่การเขย่าเด็กไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะอาจส่งผลให้ลูกต้องเผชิญกับภาวะ Shaken Baby Syndrome หรืออาการอื่นๆ ที่รุนแรงตามมาได้ ดังนั้นวิธีการจัดการกับเด็กที่ร้องไห้ไม่หยุดที่ปลอดภัย ได้แก่

– หมั่นดูความต้องการของลูกอยู่เสมอ เช่น หิว ง่วง ผ้าอ้อมเปียก หรือไม่สบายตัว

– อุ้มเด็ก และกอดเบาๆ

– เดินไปมาพร้อมกับอุ้มเด็ก

– ร้องเพลงกล่อม หรือพูดคุยกับเด็กด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

– ให้เด็กดูดนม หรือจุกนมหลอก

– นวดตัวเด็กเบาๆ

– เปิดเพลง หรือเสียงธรรมชาติที่ผ่อนคลาย

– พาเด็กออกไปเดินเล่นนอกบ้าน

Shaken Baby Syndrome_4

สรุปเรื่อง Shaken Baby Syndrome

Shaken Baby Syndrome เป็นอีกหนึ่งภาวะทางสุขภาพที่ต้องใส่ใจและใีความอันตรายต่อตัวเด็ก แต่เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ ภาวะนี้มีผลเสียทางร่างกายและจิตใจต่อทารกและครอบครัว การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันและการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการนี้ได้เช่้นกัน

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม