Q&A แม่ตั้งครรภ์ ทำสวยอะไรได้ Botox, Filler, Ulthera, ย้อมผม
Q&A แม่ตั้งครรภ์ ทำสวยอะไรได้ Botox, Filler, Ulthera, ย้อมผม
โดย : หมอคู่คิดส์ | 11 ตุลาคม 2024 | บทความทางการแพทย์
Highlight
– ไขข้อข้องใจ Botox, Filler, Laser, ทำสีผม, ทำเล็บ ฯลฯ คุณแม่ตั้งครรภ์ ทำได้ไหม?
– ไม่ว่าคุณแม่จะเลือกทำอะไร สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของคุณและลูกน้อยในครรภ์
– คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเสียสละความสวยงามในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ เพียงแต่เลือกวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย
– ขณะตั้งครรภ์เป็น “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญของผู้หญิงทุกคน ทั้งในแง่ของร่างกาย อารมณ์และจิตใจ
ขณะตั้งครรภ์เป็น “ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่สำคัญของผู้หญิงทุกคน ทั้งในแง่ของร่างกาย อารมณ์และจิตใจ นอกจากการเตรียมตัวเป็นคุณแม่แล้ว เชื่อว่าแม่หลาย ๆ คนยังต้องการดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของความสวยงาม จนทำให้เกิดคำถามว่า อะไรที่ทำได้บ้างหรือไม่ได้บ้างในช่วงนี้
“ตั้งครรภ์แล้วทำสวยอะไรได้บ้าง?” วันนี้หมอคู่คิดส์ แอปฯ หมอเด็กออนไลน์ ชวนแม่ ๆ ทุกคนมาไขข้อข้องใจกันค่ะ ได้ทั้งคำตอบพร้อมด้วยคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้รอบด้าน ระหว่างดูแลตัวเองในช่วงการตั้งครรภ์
ถ้าคุณแม่คนไหนรู้สึกว่ายังไม่มั่นใจ อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมที่เติมเต็มความชัวร์กว่านี้ สอบถามทีมแพทย์และพยาบาลในแอปฯ หมอคู่คิดส์ได้ตลอดทั้งกลางวัน กลางคืน อยู่ที่ไหนก็ถามได้
เพราะไม่ใช่เรื่องลูกที่เราใส่ใจ ความกังวลใจของพ่อแม่ เราก็พร้อมดูแล
ครอบคลุมทุกปัญหาตั้งแต่การเลี้ยงเด็กแรกเกิด พัฒนาการเด็ก สุขภาพจิตของแม่ อาการเจ็บป่วยลูกทั่วไป
ฟรี !ฟีเจอร์พิเศษ: 🔍 เช็กพัฒนาการลูก 💉 จดบันทึกวัคซีน 📝 บันทึกการกิน นอน และขับถ่ายของทารก
ตั้งครรภ์ฉีดโบท็อกซ์ (Botox) ได้ไหม?
“ไม่แนะนำ” ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบของโบท็อกซ์ต่อทารกในครรภ์ ตามข้อมูลของสมาคมสูตินรีแพทย์อเมริกัน (ACOG) แนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดโบท็อกซ์ในช่วงตั้งครรภ์ เพราะด้วยฤทธิ์ของโบท็อกซ์ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรง ทำให้เส้นประสาทเป็นอัมพาตชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
แม้ว่าจะมีงานวิจัยบางชิ้นที่ไม่พบความผิดปกติในทารกของมารดาที่ฉีดโบท็อกซ์ระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงการวิจัยเรื่องการใช้โบท็อกซ์ในหญิงให้นมบุตร กลับพบว่า “ไม่พบเชื้อโบท็อกซ์ในน้ำนมแม่” หรือในตัวทารกที่กินนมแม่ ขณะที่งานวิจัยจากวารสาร Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry พบว่า การใช้โบท็อกซ์ในหญิงตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและความผิดปกติแต่กำเนิดได้ ด้วยข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้โบท็อกซ์ในหญิงตั้งครรภ์ยังมีจำกัด จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
ตั้งครรภ์ฉีดฟิลเลอร์ (Filler) ได้ไหม?
“ไม่แนะนำ” แม้ว่าฟิลเลอร์ส่วนใหญ่จะทำจากสาร Hyaluronic Acid ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ในขั้นตอนการฉีดอาจต้องใช้ยาชาและยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาในวารสาร Plastic and Reconstructive Surgery ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยของการฉีดฟิลเลอร์ในหญิงตั้งครรภ์ที่ชัดเจน รวมถึงยังขาดข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่นเดียวกันกับโบท็อกซ์
ดังนั้นการใช้ฟิลเลอร์ควรหลีกเลี่ยงไปก่อนในช่วงตั้งท้อง แนะนำให้รอจนกว่าจะคลอดบุตรและหยุดให้นมบุตรก่อนทำหัตถการนี้
ตั้งครรภ์ทำเลเซอร์ (Laser) / Pico laser ได้ไหม?
“ไม่แนะนำ” ในกรณีของ Pico laser และเลเซอร์ประเภทอื่น ๆ ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงความปลอดภัยระหว่างการทำหัตถการดังกล่าวในช่วงตั้งครรภ์ แม้ว่าการทำเลเซอร์บางประเภทอาจจะไม่มีผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์ก็ตาม ขณะเดียวกันเลเซอร์บางประเภท ก็ใช้คลื่นพลังงานและกระแสไฟฟ้าสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ความร้อนจากเลเซอร์อาจทำให้เกิดภาวะร้อนมากไปในร่างกายของคุณแม่ ซึ่งไม่ดีต่อการพัฒนาของทารก
จากแนวทางปฏิบัติของสมาคมสูตินรีแพทย์อเมริกัน American Academy of Dermatology แนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการทำเลเซอร์ทุกประเภทระหว่างตั้งครรภ์ไปก่อน เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยในระยะยาว
ตั้งครรภ์แล้วทำไฮฟู (Hifu) อัลเทอรา (Ulthera) ได้ไหม?
“ไม่ควรทำ” เพราะการทำ Hifu หรือ Ulthera เป็นการใช้คลื่นความถี่สูงและพลังงานความร้อน เพื่อยกกระชับใบหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ความร้อนของคลื่น อาจทำให้เกิดความร้อนเกินที่มากเกิดไปในร่างกายของคุณแม่ ซึ่งไม่ดีต่อเจ้าตัวเล็กอีกเช่นกัน
การศึกษาในวารสาร Journal of Cosmetic and Laser Therapy แนะนำให้หลีกเลี่ยงการทำ Hifu หรือ Ulthera เพื่อความงามในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อทารก แม้จะยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับความปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์ แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุด คุณแม่ควรเลื่อนไปทำหลังคลอดจะดีกว่า
ตั้งครรภ์ฉีดแฟตได้ไหม?
“ไม่แนะนำ” การฉีดสลายไขมันหรือฉีดแฟต (Fat Dissolving Injections) ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการฉีดแฟตในช่วงตั้งครรภ์ การใช้สารดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาการของทารก ดังนั้นแนะนำให้คุณแม่เลี่ยงจนกว่าจะคลอดบุตรจะดีกว่า
ตั้งครรภ์ร้อยไหมได้ไหม?
“ไม่แนะนำ” การยกกระชับใบหน้าด้วยการร้อยไหม ถึงจะไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทแบบโบท็อกซ์แต่ก็ควรงด เพราะก่อนทำคุณแม่ต้องฉีดยาชา ซึ่งเสี่ยงที่ติดเชื้อจากวัสดุที่ใช้หรือการแพ้ยาชาได้ ทั้งนี้หากคุณแม่ติดเชื้อขึ้นมา พัฒนาการและการเติบโตของลูกในครรภ์อาจมีปัญหาได้
ตั้งครรภ์ย้อมผมได้ไหม?
“ทำได้” ส่วนใหญ่แล้วสารเคมีในน้ำยาทำสีผมมีปริมาณน้อยเกินกว่าจะเป็นอันตรายรุนแรงต่อทารกในครรภ์ แต่ควรระวังดังต่อไปนี้
- แนะนำให้ย้อมผมหลังจากอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป เนื่องจาก 1-3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ทารกเริ่มสร้างอวัยวะสำคัญ คุณแม่จึงควรต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้เจ้าตัวเล็กสร้างอวัยวะได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงช่วงนี้แม่ ๆ มักมีอาการแพ้ท้องหนัก ซึ่งกลิ่นของน้ำยาทำสีผม อาจกระตุ้นให้คุณแม่แพ้ท้องรุนแรงได้
- แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ หรือปลอดสารแอมโมเนีย
- เลือกร้านที่มีพื้นที่กว้างและอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารเคมีมากเกินไป
- ไม่ควรปล่อยน้ำยาทำสีผมไว้บนหนังศีรษะนานเกินความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในวารสาร International Journal of Women’s Dermatology พบว่า การทำสีผมระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก แนะนำให้ปฏิบัติตามข้อควรระวังข้างต้นเพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และเด็ก
ตั้งครรภ์แช่ออนเซ็นได้ไหม?
“ทำได้” จริง ๆ แล้วการแช่ออนเซ็นถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณแม่ได้ผ่อนคลาย แต่ควรระวังไม่ให้อุณหภูมิน้ำสูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส อ้างอิงการศึกษาจาก American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) เพราะถ้าหากร่างกายแม่ได้รับความร้อนมากไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร หรือการผิดปกติของระบบประสาททารกได้
ตั้งครรภ์นวด / ขัดผิว/ สครับผิวได้ไหม?
“ทำได้” ช่วงตั้งท้องผิวของคุณแม่อาจจะดูหมองคล้ำ ไม่สม่ำเสมอ เพราะจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หากแม่ ๆ อยากจะไปผ่อนคลายด้วยการนวดตัว ขัดผิวหรือสครับผิวก็ทำได้ ยืนยันจากการศึกษาจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่าการนวดในช่วงตั้งครรภ์สามารถช่วยลดความเครียดและอาการปวดเมื่อยได้ แต่ควรระวังการนวดในบริเวณท้องและการกดจุดบางจุดที่อาจกระตุ้นการคลอดก่อนกำหนด
ตั้งครรภ์ทำเล็บได้ไหม?
“ทำได้” แต่ควรเลือกร้านที่ใช้ยาทาเล็บปราศจากสารเคมี เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) โทลูอีน (Toluene) และฟาเลท (Pthalates) เป็นต้น เพราะจากการศึกษาของ “Agency for Toxic Substances and Disease Registry” ระบุว่า หากคุณแม่สูดดมสารเหล่านี้เข้าไปในมาก ๆ อาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทและพัฒนาการของทารก ดังนั้นควรเลือกร้านทำเล็บที่มีอากาศถ่ายเทดี และเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีกลิ่นแรงเป็นเวลานาน
คุณแม่ตั้งครรภ์กับเรื่องความสวยความงาม
การดูแลตัวเองและความงามในช่วงตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนให้ความสนใจ ไม่ว่าคุณแม่จะเลือกทำอะไร สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยของคุณและลูกน้อยในครรภ์ ทุกการตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและความระมัดระวัง คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเสียสละความสวยงามในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ เพียงแต่เลือกวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย
ทุกคนมีความงามในแบบของตัวเอง และการตั้งครรภ์ก็เป็นช่วงเวลาที่เสริมสร้างความงามจากภายใน ขอให้คุณแม่ทุกคนมั่นใจและยอมรับในตัวเองอย่างที่เป็นอยู่ หากมีความสงสัย หรือไม่มั่นใจในด้านใด ปรึกษาแพทย์และพยาบาลในแอปฯ หมอคู่คิดส์ได้ตลอดทั้งวัน จะแชตหรือวิดีโอได้ทันที ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android