fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ฝุ่น PM2.5 อันตรายต่อเด็กอย่างไร

ฝุ่น PM2.5 ในเด็ก_6

ฝุ่น PM2.5 อันตรายต่อเด็กอย่างไร

โดย : หมอคู่คิดส์ | 19 ธันวาคม 2023 | บทความทางการแพทย์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย : พญ. กวิตา ตรีเมธา กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี ก็ถึงเวลาที่มลพิษร้ายอย่างฝุ่น PM2.5 ออกโรง ซึ่งในช่วงหลัง ปัญหามลภาวะของไทยถือว่ารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงเหล่าเด็กๆ ที่พ่อแม่ต้องใส่ใจและดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษ บทความนี้จึงจะขอพาไปรู้จักกับฝุ่น PM2.5 กันให้มากขึ้น พร้อมวิธีป้องกันลูกน้อยให้ปลอดภัยจากอันตรายนี้

ฝุ่น PM2.5

PM2.5 คืออะไร

PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติ การจราจร หรือการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่ง PM2.5 ถือเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกถึงถุงลมในปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจอักเสบ โรคหืด โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กคือเด็กและสูงอายุ ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ของไทยได้ที่ http://air4thai.pcd.go.th

วิธีสังเกตอาการป่วยจากฝุ่น PM2.5

เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ถือเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงถือว่ามีผลกระทบเรื่องสุขภาพพอสมควรเลยทีเดียว โดยวิธีสังเกตอาการง่ายๆ ได้แก่

– น้ำมูกไหล
– ไอจาม
– แน่นหน้าอก
– หายใจลำบาก
– น้ำตาไหล
– แสบตา
– ตาแดง

หากพบว่ามีอาการดังที่กล่าวไป ควรพบแพทย์เพื่อรีบเข้ารับการตรวจรักษา

PM2.5 อันตรายกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะอะไร?

ฝุ่น PM2.5 แม้จะมองไม่เห็น แต่ขอบอกเลยว่าอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับเด็กๆ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังลูกน้อยเป็นพิเศษ โดยสาเหตุหลักๆ มีดังนี้

– ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะระบบต้านทานมลพิษในเยื่อบุทางเดินหายใจ
– เด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ หายใจเร็ว จึงทำให้รับฝุ่นได้มากกว่า
– เด็กๆ มักชอบเล่นกิจกรรมกลางแจ้ง ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับฝุ่น
– ไม่ได้ใส่หน้ากากกันฝุ่น หรือมีการใส่หน้ากากแบบผิดวิธี
– หากเด็กเล็กมีอาการป่วย มักจะอาการหนักและหายช้ากว่าผู้ใหญ่

วิธีป้องกันลูกน้อยจากฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศ

– คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมยาให้พร้อม หากลูกมีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ โรคในระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ
– หมั่นเช็กคุณภาพอากาศ AQI อยู่เสมอ หากค่า AQI มากกว่า 50 ถือว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
– หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงที่มลพิษทางอากาศสูง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัย N95
– ปิดประตูหน้าต่างที่บ้าน หากต้องการทำความสะอาดบ้าน ควรใช้ผ้าเปียกในการถูพื้น
– งดการสูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร เพื่อลดฝุ่นละออง
– ล้างจมูกให้ลูกน้อยทุกวันอย่างถูกวิธี ช่วยลดการติดเชื้อและเกิดโรค
– ใช้เครื่องกรองอากาศที่มี HEPA filter เพื่อกรอง PM 2.5 เกสรดอกไม้ เชื้อรา แบคทีเรีย และมลพิษอื่นๆ

อันตรายของ PM2.5 ต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์

ผลของ PM2.5 ระยะสั้น
– หายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก
– ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง
– ทำให้โรคภูมิแพ้และหืดกำเริบได้
– ร่างกายอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ
– พัฒนาการล่าช้า
– ส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุ ทำให้มีบุตรยาก

ผลของ PM2.5 ในระยะยาว
– โรคมะเร็งปอด
– การอักเสบของเส้นเลือด อาจทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน
– โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
– โรคทางผิวหนังหรือตาอักเสบ
– ผิวมีจุดด่างดำและรอยย่น ทำให้ดูแก่กว่าวัย

ฝุ่น PM2.5 ในเด็ก_4

สรุปความอันตรายของฝุ่น PM2.5

แม้ฝุ่น PM2.5 จะมีขนาดจิ๋วสุดๆ แต่อันตรายที่ติดมาด้วยนั้นถือว่าถือไม่จิ๋วตามขนาดเลย เพราะสามารถส่งผลได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมีความเสี่ยงสูงต่อบุคคลหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้สูงอายุ แต่หากทุกคนมีความตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนก ป้องกันตนเองและใส่ใจคนในครอบครัว ก็จะช่วยให้เราได้ผลกระทบจากฝุ่นพิษนี้น้อยลง

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่สังเกตอาการของลูกแล้วยังไม่แน่ใจว่าน้องๆ ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 หรือไม่ สามารถปรึกษาเบื้องต้นได้กับผู้เชี่ยวชาญในแอปฯ หมอคู่คิดส์ ที่มีทั้งหมอเฉพาะทางและพยาบาลมากประสบการณ์ คอยให้แนะนำผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดแอปฯ “หมอคู่คิดส์” ได้แล้ววันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม