fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

โรค IPD โรคติดเชื้อแบคทีเรียในเด็กที่ต้องระวัง

โรค IPD ในเด็ก

โรค IPD โรคติดเชื้อแบคทีเรียในเด็กที่ต้องระวัง

โดย : หมอคู่คิดส์ | 28 พฤศจิกายน 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
– โรค IPD เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส สามารถแพร่กระจายและทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายอย่างรุนแรง
– โรค IPD ติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ที่มีเชื้อ
– เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ IPD เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเริ่มมีอาการภายใน 3 วัน
– การฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันโรค
– เริ่มฉีดวัคซีนได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป

โรค IPD ในเด็ก

ในปัจจุบันมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมากมาย ถือเป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกน้อยสุดที่รัก เช่นเดียวกับโรค IPD อีกหนึ่งโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถติดต่อกันได้ และสร้างอาการรุนแรงแก่เด็กได้ไม่น้อย เพื่อเป็นการป้องกันให้ลูกน้อยปลอดภัย บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับโรค IPD กันให้มากขึ้น

โรค IPD คืออะไร

โรค IPD (ไอพีดี) หรือ Invasive pneumococcal disease เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งสามารถแพร่กระจายและทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายอย่างรุนแรง แบคทีเรียชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท และหลอดเลือดในร่างกาย ทำให้เกิดโรครุนแรงได้หลายรูปแบบ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ลำไส้อักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค IPD เนื่องจากเด็กวัยนี้มีภูมิต้านทานโรคน้อย และยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้

โรค IPD ติดต่อได้อย่างไร

เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือเชื้อตัวนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายคล้ายกับการแพร่เชื้อของไข้หวัด จึงถือเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายอีกโรคหนึ่งและเกิดได้กับคนในทุกช่วงวัย โดยโรค IPD สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้หลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ที่มีเชื้อ วิธีการติดต่อที่พบบ่อย ได้แก่

– การไอหรือจาม : เมื่อผู้ที่มีเชื้อไอหรือจาม ละอองฝอยที่มีเชื้อจะฟุ้งกระจายในอากาศและสามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้

– การสัมผัสใกล้ชิด : การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ โดยเฉพาะคนในครอบครัวหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

– การใช้ของร่วมกัน : การใช้ภาชนะ แก้วน้ำ หรือของเล่นร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้

– การสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อ : เชื้อสามารถอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้เป็นเวลานาน การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อแล้วนำมือมาสัมผัสปาก จมูก หรือตา อาจทำให้ติดเชื้อได้

โรค IPD ในเด็ก_2

อาการของโรค IPD เป็นอย่างไร

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ IPD เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเริ่มมีอาการภายใน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอาการทั่วไปจะมีไข้สูงคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ จากนั้นจะทวีความรุนแรงขึ้นกับอวัยวะที่ติดเชื้อหรือเกิดการลุกลาม ดังนี้

การติดเชื้อในระบบประสาท

– ไข้สูง

– ปวดหัวรุนแรง

– คลื่นไส้ อาเจียน

– งอแง

– คอแข็ง

– ไม่กินนม

– ชัก

การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

– ไข้สูง

– ปวดหู

– หูน้ำหนวกเรื้อรัง หรือหูชั้นกลางอักเสบ

– แก้วหูทะลุ

– มีปัญหาการได้ยิน

– คออักเสบ

– ไซนัสอักเสบ

การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง

– มีไข้

– ไอ

– หายใจเร็ว

– หอบ

– ปอดอักเสบ

การติดเชื้อในกระแสเลือด

– ไข้สูง

– ร้องงอแง

– หายใจเร็ว

– หอบ

– ปอดอักเสบ

*สามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่น หรือส่งผลรุนแรงอื่นๆ ได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ช็อก หรือเสียชีวิต*

โรค IPD ในเด็ก_3

เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส มักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อ ก็สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดลุกลามหรือมีอาการรุนแรงได้ ซึ่งเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรค IPD ได้แก่

– เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

– เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน

– เด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ปริมาณมาก

– เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่

– เด็กที่มีการฝากเลี้ยงไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก

– เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

– เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว

การป้องกันโรค IPD

การป้องกันโรค IPD เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้

– การฉีดวัคซีน : การฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันโรค โดยควรฉีดตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ

– รักษาสุขอนามัยที่ดี : สอนเด็กให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเล่นกับเพื่อน

– หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย : หากมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

– ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น : สอนเด็กไม่ให้ใช้แก้วน้ำ จาน ช้อน หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

– ให้นมแม่ : สำหรับทารก การให้นมแม่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ IPD ได้

– หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด : ในช่วงที่มีการระบาดของโรค IPD ควรงดพาไปลูกไปยังสถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดต่อโรคจากผู้อื่น

– หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ : ควันบุหรี่สามารถทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจของเด็กระคายเคือง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้

– ทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวต่างๆ : ทำความสะอาดของเล่นและพื้นผิวที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

– รักษาร่างกายให้แข็งแรง : ส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

โรค IPD ในเด็ก_4

การฉีดวัคซีน IPD ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้

หนึ่งในวิธีการป้องกันโรค IPD ที่มีประสิทธิภาพคือการได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค IPD หรือ PCV (Pneumococcal Conjugate Vaccine) ทั้งหมด 2 ชนิด คือ

– วัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 4, 5, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19F และ 23F

– วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F และ 23F โดยป้องกันครอบคลุม 9V

เด็กสามารถรับวัคซีน IPD ได้ตั้งแต่อายุเท่าไร

สามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่นำไปสู่อาการที่รุนแรงได้ ซึ่งกำหนดการรับวัคซีนตามอายุ มีดังนี้

– เข็มที่ 1 : เมื่อเด็กอายุ 2 เดือน

– เข็มที่ 2 : เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน

– เข็มที่ 3 : เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน

– เข็มที่ 4 (เข็มเสริม) : เมื่อเด็กอายุ 12-15 เดือน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD

กลัวลืมพาลูกไปฉีดวัคซีนโรค IPD ทำยังไงดี

หมอคู่คิดส์พร้อมคลายกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ด้วยบริการฟรี ดีต่อใจ ไม่ว่าพ่อแม่คนไหนก็ต้องเลิฟ กับฟังก์ชัน “บันทึกวัคซีน” ในแอปฯ ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนการบันทึกวัคซีนในสมุดแบบเดิมๆ สู่การบันทึกวัคซีนของลูกน้อยผ่านแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหลัก วัคซีนเสริม หรือวัคซีนอื่นๆ ก็สามารถบันทึกได้แบบครบ จบในมือถือเครื่องเดียว ใช้งานง่าย ไม่มีลืม เพราะมาพร้อมกับระบบแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดฉีดวัคซีนของลูก

สรุปเรื่องโรค IPD โรคติดเชื้อแบคทีเรียสุดอันตรายในเด็ก

โรค IPD เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเฝ้าระวังลูกน้อยเป็นพิเศษเนื่องจากอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยและการได้รับวัคซีนที่เหมาะสม หากมีการดูแลสุขภาพของเด็กและพาเด็กไปรับวัคซีนตามตารางที่กำหนด เพื่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก ก็อาจช่วยป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม