fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

โรคฝีดาษลิงคืออะไร เกิดขึ้นกับเด็กได้ไหม

โรคฝีดาษลิงในเด็ก

โรคฝีดาษลิงคืออะไร เกิดขึ้นกับเด็กได้ไหม

โดย : หมอคู่คิดส์ | 29 สิงหาคม 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
– โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus
– ติดต่อได้จากทั้งสัตว์สู่คน และคนสู่คน สามารถเกิดได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
– อาการจะคล้ายไข้หวัดในระยะแรก จากนั้นจะมีตุ่มผื่นขึ้นตามตัว
– ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะของฝีดาษลิง แต่สามารถฉีดวัคซีนไข้ทรพิษเพื่อป้องกันได้
– ควรเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีความเสี่ยง หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย

โรคฝีดาษลิงในเด็ก

ในช่วงปีหลังๆ นี้มีหลายโรคที่ถูกพูดถึงและต้องเฝ้าระวัง หนึ่งในนั้นคือโรคฝีดาษลิง ที่สามารถพบได้ในหลายประเทศทั่วโลก และเริ่มมีการระบาดในหลายพื้นที่ของช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วนี้มักพบในผู้ใหญ่ แต่ก็มีรายงานว่ามีการพบในเด็กด้วยเช่นกัน จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพของลูกน้อยไม่ต่าง
จากโรคนี้ โดยบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับโรคฝีดาษลิงกันให้มากขึ้น

โรคฝีดาษลิงคืออะไร

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Orthopoxvirus ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 จากการศึกษาลิงที่เกิดการติดเชื้อ จากนั้นพบการติดเชื้อครั้งแรกในคนเมื่อปี ค.ศ. 1970 ที่ประเทศคองโก หลังจากนั้นเริ่มมีการติดเชื้อในประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตก โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือคองโกและไนจีเรีย โดยโรคฝีดาษลิงมีความคล้ายคลึงและถือเป็นโรคกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ(Smallpox)

โรคฝีดาษลิงติดต่อและแพร่เชื้อได้อย่างไร

เชื้อฝีดาษลิงสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ได้ ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือผ่านการกัดหรือข่วนของสัตว์ที่เป็นพาหะ นอกจากนี้การสัมผัสกับเนื้อเยื่อ เลือด หรือของเหลวจากสัตว์ป่าที่ติดเชื้อก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ ซึ่งสัตว์ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อ ได้แก่ กลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู กระต่าย และลิงบางชนิด

ส่วนการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ผ่านเลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนอง หรือการสัมผัสสิ่งของหรือของใช้ของผู้ป่วย ในบางกรณี โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายระหว่างมนุษย์ผ่านทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ หรือการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีโอกาสติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกผ่านทางรกหรือระหว่างคลอดได้ด้วย

อาการของโรคฝีดาษลิงในเด็ก

สำหรับอาการของโรคฝีดาษลิงในเด็กส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกับอาการฝีดาษในผู้ใหญ่ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยเด็กที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมักจะแสดงอาการคล้ายไข้หวัดในระยะแรก พร้อมทั้งยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนี้

– ไข้สูง
– ปวดศีรษะ
– อ่อนเพลีย
– ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– เจ็บคอ
– หนาวสั่น

จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นตามแขนขา ใบหน้า รวมถึงบริเวณมือและเท้า ต่อมาผื่นจะค่อยๆ กลายเป็นตุ่มพองน้ำและแห้งเป็นสะเก็ด ซึ่งผื่นดังกล่าวอาจทำให้เด็กรู้สึกคันและระคายเคืองผิวหนังได้

ระยะเวลาของการติดเชื้อ

เมื่อรับเชื้อแล้ว โรคฝีดาษลิงจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 5-14 วัน แต่บางรายงานระบุว่าอาจนานถึง 21 วัน หลังจากนั้นผื่นและอาการของโรคจะค่อยๆ หายไปภายในประมาณ 2-4 สัปดาห์

ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง หรือกำลังได้รับยารักษาโรคที่กดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบหนักจากการติดเชื้อฝีดาษลิง ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อแทรกซ้อนในกระแสเลือด หรือภาวะผิวหนังอักเสบรุนแรง

การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิงในเด็กต้องอาศัยการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งรวมถึงการเก็บตัวอย่างจากผื่นหรือแผลที่ผิวหนังแล้วนำไปตรวจหาเชื้อไวรัส การวินิจฉัยที่รวดเร็วจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการรักษานั้น ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรงสำหรับรักษาโรคฝีดาษลิง ซึ่งจะเน้นไปที่การรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด และการดูแลผื่นหรือแผลพุพอง รวมถึงการให้น้ำและเกลือแร่เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดน้ำ 

ในบางรายที่อาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้การแยกเด็กที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

โรคฝีดาษลิงในเด็ก_2

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการรับรองสำหรับเด็ก การป้องกันโรคฝีดาษลิงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยวิธีป้องกันมีดังนี้

– เลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีความเสี่ยง

– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

– สวมหน้ากากอนามัย

– เลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย

– เลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด

– กินอาหารปรุงสุก

หากมีการสัมผัสเชื้อแล้ว ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษภายใน 14 วัน

โรคฝีดาษลิงในเด็ก_3

ถามตอบเรื่องฝีดาษลิง

Q : โรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ Claud 1B เป็นอย่างไร

A : สำหรับโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ มีลักษณะอาการโดยรวมเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ มีโอกาสติดง่ายกว่า แต่มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า และไม่ได้ติดต่อกันง่ายเหมือนโรคระบาดอย่างโควิด-19

Q : หากเป็นโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ Claud 1B ต้องทำอย่างไร

A : สามารถกินยาตามอาการได้เหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด จากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์

Q : โรคฝีดาษลิง มีวัคซีนป้องกันหรือยัง

A : ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแบบจำเพาะของโรคฝีดาษลิงออกมา แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ที่ช่วยป้องกันได้ถึง 85%

Q : แล้วถ้าพาลูกไปปลูกฝี เหมือนคนรุ่นก่อนๆ ได้ไหม

A : ในปัจจุบันประเทศไทยได้ยกเลิกการปลูกฝีไปแล้ว โดยคนไทยที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 อาจเป็นกลุ่มคนที่เคยได้รับการปลูกฝี

โรคฝีดาษลิงในเด็ก_4

สรุปเรื่องโรคฝีดาษลิงในเด็ก

โรคฝีดาษลิงในเด็กเป็นโรคที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาด อาการ และการป้องกัน จะช่วยให้ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์สามารถจัดการกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาสุขอนามัยและการระมัดระวังในพื้นที่เสี่ยงก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเช่นเดียวกัน

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม