fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ขลิบ vs ไม่ขลิบ ทำความเข้าใจเรื่อง(ไม่)เล็กของเด็กชาย

ขลิบหนังหุ้มปลายเด็ก_1

ขลิบ vs ไม่ขลิบ ทำความเข้าใจเรื่อง(ไม่)เล็กของเด็กชาย

โดย : หมอคู่คิดส์ | 26 เมษายน 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
– การขลิบหนังหุ้มปลาย คือ การผ่าตัดเพื่อเอาหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายส่วนเกินออก ให้ง่ายกว่าต่อการทำความสะอาด
– การขลิบจะช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ ที่อวัยวะเพศ
– สามารถเริ่มขลิบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด 1-2 วัน
– ในขณะทำการขลิบอาจเสี่ยงติดเชื้อ รวมถึงการอักเสบหลังผ่าตัด
– หากเลือกไม่ขลิบ แต่ถ้ามีการดูแลเรื่องความสะอาดอย่างดี ก็ช่วยลดโอกาสติดเชื้อโรคได้
– ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดจากแพทย์ทั่วโลกว่า ขลิบหรือไม่ขลิบ แบบไหนจะดีกว่ากัน
– คุณพ่อคุณแม่ต้องศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 วิธี และให้ความยินยอม

อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกชาย คือเรื่องของการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของลูกน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ยังหาคำตอบแบบชัดเจนไม่ได้ว่า “ขลิบ” หรือ “ไม่ขลิบ” แบบไหนจะดีกว่ากัน เพราะแพทย์จากทั่วโลกก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ซึ่งในบทความนี้จะพาไปเรียนรู้เรื่องของการขลิบหนังหุ้มปลายกันแบบละเอียด

การขลิบหนังหุ้มปลายคืออะไร

การขลิบหนังหุ้มปลาย (Circumcision) คือ การผ่าตัดเพื่อเอาหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายส่วนเกินออก ให้ง่ายกว่าต่อการทำความสะอาด และช่วยทำให้ล้างสิ่งสกปรกจากสารคัดหลั่งได้สะดวกขึ้น เช่น คราบเหงื่อ คราบปัสสาวะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหมักหมมอยู่ในบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ โดยสามารถเริ่มขลิบได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด 1-2 วัน (ต้องแข็งแรงและไม่ได้คลอดกำหนด) ส่วนเด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี ก็สามารถทำการขลิบหนังหุ้มปลายได้ด้วยเช่นกัน

ขลิบหนังหุ้มปลายเด็ก_1

ถ้าขลิบหนังหุ้มปลาย จะดีไหม

ตามธรรมชาติของเด็กผู้ชาย เมื่อเกิดมาจะมีหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เมื่อเริ่มเข้าสู่อายุ 2 ปี หนังหุ้มปลายก็จะเริ่มเปิดได้ดีขึ้น และสามารถเปิดได้จนเกือบหมด เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ถ้าหากในครอบครัวมีความเชื่อหรือธรรมเนียมปฏิบัติที่บอกต่อๆ กันมาว่าควรขลิบหนังหุ้มปลายให้ลูกชาย ก็สามารถให้แพทย์ทำได้ตั้งแต่แรกเกิด

ข้อดีของการขลิบ

– ดูแลรักษาและทำความสะอาดได้ง่าย

– ลดโอกาสการติดเชื้อที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศและติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

– ป้องกันการอักเสบของหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ (หนังหุ้มปลายตีบ/แตก/อักเสบ)

– ลดโอกาสการเกิดมะเร็งอวัยวะเพศ

– ลดการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เมื่อลูกโตขึ้น)

ข้อควรระวัง

– ในขณะขลิบอาจเสี่ยงติดเชื้อหรือเกิดการตึงรั้งของอวัยวะเพศ

– อาจเกิดการอักเสบของแผลหลังผ่าตัด

– มีความเสี่ยงที่ความรู้สึกส่วนปลายขององคชาตจะลดลง

– ปัญหาจากการตัดหนังออกมากเกินไป ทำให้มีการตึงรั้งของอวัยวะเพศ โดยเฉพาะเวลาแข็งตัว

– รูเปิดท่อปัสสาวะที่ไม่มีผิวหนังปกคลุม จะมีการเสียดสีกับผ้า จนอาจอักเสบและตีบลงได้

– ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาการบวม เลือดออก เจ็บแผล

– หากผลการขลิบไม่เป็นที่พอใจในด้านความงาม อาจส่งผลให้เด็กเสียความมั่นใจ เมื่อโตขึ้น

ขั้นตอนการขลิบหนังหุ้มปลาย

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของเด็กชายถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ซึ่งแพทย์จะมีการใช้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ในเด็กแรกเกิดเท่านั้น แต่หากคุณพ่อคุณแม่พาลูกชายที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ไปทำการขลิบ ก็จะมีการใข้ยาสลบแล้วจึงการผ่าตัด โดยใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที

การดูแลหลังขลิบ

– หลีกเลียงการโดนน้ำหลังจากทำการผ่าตัดประมาณ 3 วัน

– หากแผลเปียกให้รีบเช็ดทำความสะอาดให้แห้งทันที

– สวมใส่กางเกงสบายๆ ให้ลูก

– งดพาลูกไปทำกิจกรรมที่โลดโผน

– หากรู้สึกระคายเคืองที่แผล สามารถทาเจลหรือขี้ผึ้งได้

– หากมีอาการปวด สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้

ถ้าไม่ขลิบหนังหุ้มปลาย จะเป็นอะไรไหม

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าในปัจจุบันยังไม่มีการฟันธงอย่างชัดเจนว่า “ขลิบหรือไม่ขลิบ” แบบไหนจะดีกว่ากัน เพราะแพทย์จากทั่วโลกต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างก้นออกไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ตัดสินใจไม่ขลิบหนังหุ้มปลายอว้ยวะเพศให้ลูกชาย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะหากมีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ข้อดีของการไม่ขลิบ

– ลูกน้อยไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัด

– ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัด

– ถ้ามีการดูแลความสะอาดอวัยวะเพศให้ดีอยู่เสมอ ก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดเชื้อโรคได้

ข้อควรระวัง

– หากทำความสะอาดไม่ดี อาจเป็นแหล่งสะสมและหมักหมมของเชื้อโรคได้

– ควรหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

หากมีอาการเหล่านี้ จำเป็นต้องขลิบ

– ปัสสาวะลำบาก

– หนังหุ้มปลายเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ

– มีการอักเสบเรื้อรังของหนังหุ้มปลาย

– เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว หนังหุ้มปลายยังไม่เปิด

– หนังหุ้มปลายมีการรัดอวัยวะเพศ จนปวดหรือบวม

ขลิบหนังหุ้มปลายเด็ก_3

เปอร์เซ็นต์การขลิบในประเทศต่างๆ

ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นมีข้อศึกษาด้านการแพทย์ รวมไปถึงความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์การขลิบหนังหุ้มปลายของหลายๆ ประเทศมาฝากกัน ดังนี้

– เกาหลีใต้ มีการขลิบเฉลี่ย 77%

– สหรัฐอเมริกา มีการขลิบเฉลี่ย 71.2%

– ออสเตรเลีย มีการขลิบเฉลี่ย 26.6%

– ไทย มีการขลิบเฉลี่ย 23.4%

– อังกฤษ มีการขลิบเฉลี่ย 20.7%

– ฝรั่งเศส มีการขลิบเฉลี่ย 14%

– จีน มีการขลิบเฉลี่ย 14%

– ญี่ปุ่น มีการขลิบเฉลี่ย 9%

– นอร์เวย์ มีการขลิบเฉลี่ย 3%

– บราซิล มีการขลิบเฉลี่ย 1.3%

ที่มา : www.worldpopulationreview.com

ขลิบหนังหุ้มปลายเด็ก_4

แล้วควรจะขลิบหรือไม่ขลิบดีนะ?

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ยังลังเลหรือตัดสินใจไม่ได้ว่าจะขลิบหรือไม่ขลิบให้ลูกชายดี เรามีอีกหนึ่งข้อมูลมากฝากกัน โดยในปัจจุบันสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา ได้มีแนะนำว่าการขลิบไม่ได้เป็นแบบแผนปฏิบัติสำหรับทารกโดยทั่วไป ควรทำเฉพาะคนที่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น มีปัญหาเรื่องการปัสสาวะที่ผิดปกติ หรืออาจเป็นเรื่องความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

อีกทั้งยังไม่ได้มีความชัดเจนถึงข้อดีด้านอื่นๆ ของการขลิบในทารกปกติที่ไม่ได้มีปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะ ดังนั้นความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นลูกคุณไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายเสมอไป บางครั้งการเสี่ยงติดเชื้อหรือการเป็นโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ ก็สามารถเป็นได้กับเด็กที่ขลิบแล้วเช่นกัน เพียงแค่ต้องเน้นเรื่องการทำความสะอาดเป็นพิเศษ ปัญหาต่างๆ ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ทาง The American Academy of Pediatrics ยังได้แนะนำว่า การขลิบหนังหุ้มปลายในทารกเพศชาย ถือว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งการขลิบก็ควรจะให้พ่อแม่ได้รับทราบถึงข้อดีและข้อเสีย และให้ความยินยอม

ขลิบหนังหุ้มปลายเด็ก_5

สรุปเรื่องขลิบ vs ไม่ขลิบ

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีประโยชน์และผลเสียในตัวเอง เช่นเดียวกับเรื่องของการขลิบและไม่ขลิบ อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังไม่มีผลสรุปแน่ชัดว่าวิธีไหนที่ดีกว่ากัน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง เพราะไม่ว่าเลือกจะทางไหน ก็ควรต้องศึกษาถึงข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม