“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ลำไส้กลืนกัน โรคสุดอันตรายของลูกน้อย ที่ต้องรีบรักษา

โรคลำไส้กลืนกัน

ลำไส้กลืนกัน โรคสุดอันตรายของลูกน้อย ที่ต้องรีบรักษา

โดย : หมอคู่คิดส์ | 20 มีนาคม 2025 | บทความทางการแพทย์

Highlight

– โรคลำไส้กลืนกัน คือ ภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นเคลื่อนเข้าไปในลำไส้ส่วนถัดไปทางด้านปลาย
– กลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็กอายุ 3 เดือน – 2 ปี
– เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
– อาการ คือ ปวดท้อง ร้องไห้ อาเจียน และอุจจาระผิดปกติ
– วิธีรักษามี 2 วิธี คือ การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี และการผ่าตัด

โรคลำไส้กลืนกัน

โรคภัยไข้เจ็บบอกเลยว่ามีมากมายหลายโรค ซึ่งลำไส้กลืนกันก็ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ถือเป็นภาวะเสี่ยงต่อลูกน้อยที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเป็นโรคนี้แล้ว ต้องรีบรักษาโดยด่วน บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น

โรคลำไส้กลืนกัน คืออะไร

โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) คือ ภาวะที่ลำไส้ส่วนต้นเคลื่อนเข้าไปในลำไส้ส่วนถัดไปทางด้านปลาย พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 2 ปี ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องรีบรักษาโดยเร็ว เนื่องจากภาวะนี้อาจทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงลำไส้ และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เช่น ลำไส้ขาดเลือด ลำไส้ทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือาจเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคลำไส้กลืนกัน

สาเหตุของโรคลำไส้กลืนกันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่

– การติดเชื้อไวรัส : เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรตาไวรัส อาจทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้กลืนกันได้

– ความผิดปกติของโครงสร้างลำไส้ : เด็กบางคนอาจมีเนื้องอกหรือติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกลืนกัน

– การเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวของลำไส้ : การเปลี่ยนแปลงของการบีบตัวของลำไส้ เช่น หลังการผ่าตัดช่องท้อง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

– พันธุกรรม : ในบางกรณี โรคลำไส้กลืนกันอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม

โรคลำไส้กลืนกัน คืออะไร

อาการของโรคลำไส้กลืนกัน เป็นอย่างไร

อาการของโรคลำไส้กลืนกันในเด็กมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

– ปวดท้อง : กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง

– ร้องไห้ : จะร้องเป็นพักๆ ประมาณ 15-30 นาที แล้วก็กลับมาร้องอีก โดยเวลาร้องไห้ เด็กจะงอเข่าทั้ง 2 ข้าง

– ท้องอืดและอาเจียน : ช่วงแรกเด็กมักอาเจียนเป็นนมหรืออาหารที่กินเข้าไป หลังจากนั้นจะอาเจียนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวของน้ำดีปนออกมาด้วย

– อุจจาระผิดปกติ : มีการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด สีคล้ำปนเมือก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะลำไส้อุดตัน

*เด็กบางคนอาจมีอาการซึมหรือชักร่วมด้วย*

โรคลำไส้กลืนกัน อาการ

การวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกัน

แพทย์จะวินิจฉัยโรคลำไส้กลืนกันในเด็กโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยอาจคลำพบก้อนในช่องท้อง และทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น

– การเอกซเรย์ช่องท้อง เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้

– การทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง โดยใช้คลื่นเสียงตรวจสอบ ถือเป็นวิธีการวินิจฉัยที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะสามารถแสดงภาพลำไส้ได้ จึงทำให้ตรวจพบก้อนลำไส้กลืนกันได้ง่ายขึ้น

– การสวนแป้ง Barium ไปทางทวารหนักเข้าไปในลำไส้ใหญ่

การรักษาโรคลำไส้กลืนกัน

สำหรับโรคลำไส้กลืนกัน สามารถทำการรักษาได้ด้วย 2 วิธีหลักๆ ได้แก่

– การสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบรังสี : เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะเป็นการใช้แรงดันจากการสวนสารทึบรังสีผ่านทางทวารหนัก เพื่อดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยวิธีการรักษานี้ถือว่ามีอัตราความสำเร็จที่สูงถึงร้อยละ 80 แต่ก็ถือว่ายังต้องเฝ้าระวังการเกิดภาวะนี้ซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบได้ร้อยละ 10 หลังการสวนลำไส้เด็กส่วนใหญ่สามารถกินอาหารได้ภายใน 1-2 วัน และกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน

– การผ่าตัด : ในกรณีที่การสวนทวารไม่สำเร็จ หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะลำไส้กลืนกัน

การป้องกันโรคลำไส้กลืนกันในเด็ก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคลำไส้กลืนกันในเด็กที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพของเด็กให้แข็งแรง เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การดื่มน้ำสะอาด และการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

สรุปเรื่องโรคลำไส้กลืนกัน

โรคลำไส้กลืนกันในเด็กเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากลูกน้อยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระเป็นเลือดปนเมือก หรือมีอาการอื่นๆ ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคลำไส้กลืนกัน ควรพาไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ การรักษาที่ล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม