“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

สัญญาณเตือน! ลูกพูดช้า พ่อแม่ต้องสังเกตอย่างไร เสริมพัฒนาการแบบไหน

ลูกพูดช้า สังเกตยังไง

สัญญาณเตือน! ลูกพูดช้า พ่อแม่ต้องสังเกตอย่างไร เสริมพัฒนาการแบบไหน

โดย : หมอคู่คิดส์ | 1 กรกฎาคม 2025 | บทความทางแม่และเด็ก

Highlight
– สาเหตุที่ลูกพูดช้า อาจเกิดขึ้นจากทั้งทางร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม พัฒนาการและสมอง หรือพันธุกรรม
– สามารถสังเกตพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้ตั้งแต่ช่วงวัยทารก
– กระตุ้นให้ลูกพูดได้ แต่ไม่ควรคาดคั้น เพราะลูกจะยิ่งไม่อยากพูด
– ใช้คำสั้นๆ ง่ายๆ พูดให้ชัดอย่างช้าๆ
– ถ้าลูกพูดผิด ไม่ควรดุลูก

ลูกพูดช้า สังเกตยังไง

คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกวัยเดียวกันกับลูกเราพูดคล่องแล้ว แต่ลูกของเรายังไม่ยอมพูดเลย? เรื่อง “ลูกพูดช้า” เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักกังวล เพราะการพูดเป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่สะท้อนเรื่องพัฒนาการโดยรวมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา การสื่อสาร หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมทางสังคม ในบทความนี้หมอคู่คิดส์จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการทางด้านการพูดของลูก เพื่อเจ้าตัวเล็กเติบโตมาสดใสแข็งแรงสมวัย

สาเหตุอะไรที่ทำให้ลูกพูดช้า

ภาวะ “ลูกพูดช้า” หมายถึง เด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาหรือการสื่อสารด้วยคำพูดไม่เป็นไปตามวัย โดยอาจมีอาการพูดน้อยกว่าปกติ พูดคำไม่ชัด หรือยังไม่พูดเลยแม้จะถึงวัยที่เด็กทั่วไปควรพูดได้แล้ว ซึ่งพัฒนาการด้านภาษานั้นเกี่ยวข้องกับหลายด้าน ได้แก่ การฟังและเข้าใจภาษา การเลียนแบบเสียงและคำพูด การออกเสียง หรือการใช้ภาษาสื่อสารความต้องการ ซึ่งการที่ลูกพูดช้าไม่ได้หมายความว่าเด็กมีปัญหาทางสมองหรือสติปัญญาเสมอไป แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ

ภาวะลูกพูดช้า อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

สาเหตุทางร่างกาย

– ปัญหาทางการได้ยิน เช่น หูตึง หูน้ำหนวก ซึ่งทำให้เด็กรับเสียงพูดได้ไม่ชัด

– ความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการพูด เช่น ลิ้นไก่สั้น, เพดานโหว่

– พัฒนาการกล้ามเนื้อปากล่าช้า

สาเหตุทางจิตใจและพฤติกรรม

– ไม่ได้รับการกระตุ้นให้พูดอย่างเหมาะสม เช่น พ่อแม่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทนการพูดกับลูก

– สภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมการพูด เช่น เด็กอยู่กับผู้ใหญ่ที่พูดน้อย

สาเหตุทางพัฒนาการและสมอง

– เด็กออทิสติก หรือความบกพร่องทางพัฒนาการ

– ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา

ปัจจัยทางพันธุกรรม

– หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเคยมีปัญหาการพูดช้า อาจมีแนวโน้มถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

สาเหตุที่เด็กพูดช้า

สัญญาณเตือนลูกพูดช้าในแต่ละช่วงวัย

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสังเกตพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้ตั้งแต่ช่วงวัยทารก ซึ่งหากพบว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้าในแต่ละช่วงอายุ ควรปรึกษากุมารแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กทันที

วัย 6 เดือน

– ยังไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ อืออา

– ไม่หันตามเสียงเรียก

– ไม่มีการสบตาเวลาพูดด้วย

วัย 10 เดือน

– ยังไม่แสดงสีหน้า หรือไม่แสดงท่าทางตอบสนองเมื่อพูดคุย

– ไม่เลียนเสียงพูด

– ไม่หันตามเมื่อมีพ่อแม่หรือคนอื่นเรียกชื่อ

วัย 1 ขวบ

– ไม่เล่นเสียงสูงต่ำ หรือโต้ตอบ

– ไม่แสดงท่าทาง เช่น โบกมือ บ๊ายบาย

– ยังไม่เข้าใจคำง่ายๆ เช่น “ไม่เอา”, “ไปไหน”

วัย 1 ขวบครึ่ง

– ออกเสียงได้แค่ “มา ปา” ที่เหลือเป็นคำที่ไม่มีความหมาย

– พูดได้ไม่ถึง 10 คำ

– ยังเรียก “พ่อ-แม่” ได้ไม่ชัด

– ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น “เก็บของ” “เอามาให้แม่”

วัย 2 ขวบ

– พูดประโยค 2 คำไม่ได้ เช่น “กินนม”, “ไปบ้าน”

– มีคลังคำพูดน้อยกว่า 50 คำ

– คนอื่นฟังไม่เข้าใจว่าเด็กพูดอะไร

– ชี้บอกอวัยวะไม่ได้

วัย 2 ขวบครึ่ง

– ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองได้อย่างมีความหมาย

– ไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ เช่น “ชื่ออะไร?”, “แม่อยู่ไหน?”

– ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ

วัย 3 ขวบ

– พูดเป็นประโยคยาวๆ ไม่ได้ เช่น “หนูหิวนมค่ะ”

– ใช้คำถามไม่เป็น

– มีปัญหาเรื่องการออกเสียงไม่ชัดเจน

วัย 4 ขวบ

– คนรอบข้างยังฟังไม่เข้าใจเมื่อพูด

– ไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ง่ายๆ ให้พ่อแม่ฟังได้

– ยังพูดคำศัพท์ผิดหรือพูดผสมภาษา (เช่น พูดไทยแต่ใส่คำอังกฤษ)

– ยังพูดติดอ่าง

สัญญาณเตือนลูกพูดช้าตามช่วงอายุ

วิธีเสริมพัฒนาการเด็กที่พูดช้า

เมื่อลูกมีภาวะพูดช้า การกระตุ้นที่เหมาะสมสามารถช่วยให้พัฒนาการด้านภาษาเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ดังนี้

พูดคุยกับลูกบ่อยๆ

– ใช้คำง่ายๆ พูดช้า ชัดเจน และมีน้ำเสียงสื่ออารมณ์ พร้อมสบตากับลูกเสมอ

– เล่าเรื่องราวระหว่างทำกิจกรรม เช่น “หนูกำลังอาบน้ำอยู่ น้ำอุ่นใช่ไหม?

– ถ้าลูกพูดผิด ไม่ควรดุลูก

อ่านนิทานให้ฟังทุกวัน

– ใช้หนังสือนิทานภาพหรือแบบมีเสียง

– ชี้พร้อมพูด “ดูนี่ซิ นี่คือ หมา เห่า ว่า โฮ่งๆ”

กระตุ้นให้พูด

– ตั้งคำถาม แล้วกระตุ้นให้ลูกตอบ

– อย่ารีบตอบสนองโดยไม่ให้ลูกพยายามพูดก่อน เช่น ให้ลูกพูดคำว่า “น้ำ” ก่อนจะยื่นน้ำให้

– ไม่ควรคาดคั้นลูก เพราะลูกจะยิ่งไม่อยากพูด

– ถ้าลูกพูดคำสั้นๆ ได้แล้ว ลองเติมคำให้ยาวขึ้น

ลดเวลาการดูจอ

– เด็กที่ดูหน้าจอมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสพูดช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ดูถึง 2.3 เท่า

– ควรเป็นพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่พูดคุย สอน และโต้ตอบกับลูกอย่างจริงจังมากกว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ให้ลูกมีโอกาสเล่นกับเพื่อน

– เด็กเรียนรู้ภาษาและการสื่อสารได้ดีจากการเล่นร่วมกับผู้อื่น

– สนับสนุนให้เข้าสังคมได้เร็วและเป็นธรรมชาติ

วิธีเสริมพัฒนาการลูกพูดช้า

ถ้าลูกมีปัญหาพูดช้า ควรพบหมอเด็กเมื่อไร

คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหากพบว่า ลูกไม่มีพัฒนาการทางภาษาตามช่วงวัย, ลูกไม่ตอบสนองต่อเสียงหรือคำสั่ง, ลูกหลีกเลี่ยงการสบตา ไม่พยายามสื่อสาร หรือมีพฤติกรรมผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น อยู่กับตัวเอง เล่นแบบซ้ำๆ

วันนี้การปรึกษาพัฒนาการและจิตวิทยาเด็กจะสะดวกยิ่งขึ้น เพียงโหลดหมอคู่คิดส์ แอปฯ หมอเด็กออนไลน์ ปรึกษาได้ทุกปัญหาลูกน้อย มั่นใจได้ในทุกคำตอบโดยแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลชั้นนำ อยู่ที่ไหนก็ถามได้ ไม่ต้องเดินทาง ไม่เสียเวลารอคิว แชตหรือวิดีโอคอลคุยกับหมอได้ง่ายๆ ผ่านแชตหรือวิดีโอคอลในแอปฯ

สรุปวิธีสังเกตลูกพูดช้า

“ลูกพูดช้า” อาจเป็นเพียงความล่าช้าชั่วคราว หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาพัฒนาการ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นสัญญาณเตือนในแต่ละช่วงวัย อย่านิ่งนอนใจ การรู้เท่าทันและกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วและสื่อสารได้ดีอย่างมั่นใจ และเติบโตขึ้นได้อย่างสมวัย

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการ หรือจิตวิทยาเด็ก สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม