4 โรคฮิตหน้าร้อน ที่เด็กต้องระวัง
4 โรคฮิตหน้าร้อน ที่เด็กต้องระวัง
โดย : หมอคู่คิดส์ | 24 เมษายน 2025 | บทความทางการแพทย์
Highlight
– โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อโรค อุณหภูมิสูงทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว
– โรคลมแดด (ฮีทสโตรก) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป จนปรับตัวไม่ได้
– โรคผดร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้อักเสบและผื่นขึ้น
– โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
หน้าร้อนมาเยือนทีไร นอกจากอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนจนทะลุปรอทแล้ว ยังพาเอาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มาด้วย โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่มีภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ จึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหมั่นดูแลเอาใจใส่บุตรหลานเป็นพิเศษ บทความนี้จึงได้รวบรวม 4 โรคฮิตหน้าร้อนที่เด็กต้องระวัง พร้อมอาการ วิธีป้องกัน และการดูแลเบื้องต้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รับมือได้อย่างถูกต้อง
1. โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ
อากาศร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารบูดเสียง่าย เชื้อโรคเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด เพราะอุณหภูมิสูงทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้ง่าย
อาการของโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ
– ปวดท้อง
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน
– บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
*หากอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว*
การป้องกันและการดูแล
– เลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้ง
– ปรุงอาหารให้สุก เนื่องจากความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ และควรปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน
– ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก
– ดื่มน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำแข็งที่ไม่สะอาด
– รักษาความสะอาดของภาชนะ และล้างภาชนะให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน
– หากมีอาการถ่ายเหลว ให้จิบสารละลายเกลือแร่ ORS เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายบ่อยมาก ควรรีบพาไปพบแพทย์
2. โรคลมแดด (ฮีทสโตรก)
โรคลมแดดเกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานผิดปกติ ถือเป็นโรคที่อันตรายมาก อาจถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคลมแดด (ฮีทสโตรก)
– ตัวร้อนจัด
– ผิวหนังร้อนและแห้ง
– ไม่มีเหงื่อออก
– ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
– คลื่นไส้ อาเจียน
– หัวใจเต้นเร็ว
– หายใจเร็ว
– ชัก
– หมดสติ
การป้องกันและการดูแล
– หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดร้อนจัดที่สุด
– สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้มและรัดรูป
– ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
– หากมีอาการของโรคลมแดด ให้นำผู้ป่วยเข้าร่มในที่เย็น ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบตามตัว และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
– ไม่ปล่อยเด็กอยู่ในรถตามลำพัง เพราะอากาศร้อน อาจเสี่ยงทำให้ขาดอากาศหายใจได้
– เลี่ยงสถานที่แออัด ไม่พาเด็กไม่ยังสถานที่ที่คนอยู่เยอะๆ เนื่องจากอากาศอาจไม่ถ่ายเท และเสี่ยงต่อการติดโรคอื่นๆ ด้วย
3. โรคผดร้อน
โรคผดร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้อีกเสบและมีผื่นขึ้น มักเกิดขึ้นในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสี เช่น ข้อพับ คอ หน้าอก หลัง
อาการของโรคผดร้อน
– รู้สึกคัน
– มีตุ่มแดงเล็กๆ ขึ้นทั่วร่างกาย และอาจมีน้ำใสๆ อยู่ภายในตุ่ม
– หากเกาอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
การป้องกันและการดูแล
– อาบน้ำให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้สบู่อ่อนๆ
– สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป
– ใช้แป้งเด็ก โดยทาบริเวณที่เป็นผดร้อน เพื่อช่วยดูดซับความชื้น
– หลีกเลี่ยงการเกา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
– อยู่บริเวณที่อากาศถ่ายเทได้ดี และอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ
– เลี่ยงการทาครีมหรือโลชันที่เสี่ยงต่อลูกน้อย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีประวัติว่าแพ้
– หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
4. โรคไข้หวัดใหญ่
แม้จะเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อน อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายขึ้น โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
– ไข้สูง
– ปวดศีรษะรุนแรง
– ปวดเมื่อยตามตัว
– ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ถ่ายเหลว
– อ่อนเพลีย
การป้องกันและการดูแล
– กินยาตามอาการ พร้อมกับการเช็ดตัวลดไข้
– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
– พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
– สวมหน้ากากอนามัย
– เลี่ยงสถานที่แออัด
– หากมีอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
– ฉีควัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
ถ้าลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ต้องทำยังไง
หมอคู่คิดส์พร้อมเสิร์ฟบริการดี ฟรี และดีต่อใจสำหรับพ่อแม่ กับฟังก์ชัน “บันทึกวัคซีน” ในแอปฯ ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนการบันทึกวัคซีนในสมุดแบบเดิมๆ สู่การบันทึกวัคซีนของลูกน้อยผ่านแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหลัก วัคซีนเสริม หรือวัคซีนอื่นๆ ก็สามารถบันทึกได้แบบครบ จบในมือถือเครื่องเดียว ใช้งานง่าย ไม่มีลืม เพราะมาพร้อมกับระบบแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดฉีดวัคซีนของลูก
สรุปเรื่องโรคหน้าร้อนที่เด็กๆ ต้องระวัง
การดูแลสุขภาพของเด็กๆ ในช่วงหน้าร้อนเป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขในช่วงหน้าร้อนนี้
คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android