6 โรคฮิตหน้าหนาว ที่เด็กต้องระวัง
6 โรคฮิตหน้าหนาว ที่เด็กต้องระวัง
โดย : หมอคู่คิดส์ | 3 ธันวาคม 2024 | บทความทางการแพทย์
Highlight
– โรคไข้หวัดธรรมดา สามารถพบได้ทุกฤดู แต่ในหน้าหนาวจะเป็นง่ายกว่า 2 เท่า
– โรคไข้หวัดใหญ่ เด็กมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ มีไข้สูง ปวดหัวรุนแรงด้วย อาจถ่ายเหลวร่วมด้วย
– โรคปอดบวม เด็กจะมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย ไอมีเสมหะมาก แน่นหน้าอก หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก
– โรคอุจจาระร่วง (ไวรัสโรต้า) จะมีทั้งไข้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ 3-7 วัน อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
– โรคอีสุกอีใส จะมีตุ่มน้ำขึ้นได้ทั้งตัว มีไข้ 1-2 วัน ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย
– โรคหัด จะมีผื่นแดงขึ้นที่หน้า แขน ขา ลำตัว ไรผม พร้อมกับมีจุดสีเทาขาวในกระพุ้งแก้ม
ในช่วงฤดูหนาว สุขภาพของเด็กๆ ต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ เพราะความหนาวเย็นมักทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กๆ อ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ และมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของเด็กๆ มากขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อที่มักระบาดในช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของลูกน้อยเป็นพิเศษ บทความนี้จะพูดถึง 6 โรคฮิตที่มักพบบ่อยในหน้าหนาว พร้อมทั้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสาเหตุ การติดต่อ อาการ และวิธีการป้องกันดูแล เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเฝ้าระวังและดูแลลูกน้อยได้อย่างใกล้ชิด
1. โรคไข้หวัดธรรมดา
ถือเป็นโรคยอดฮิตที่พบบ่อยสุดๆ จริงๆ แล้วสามารถเป็นได้ทั้งปี แต่ในฤดูหนาวมักจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเป็น 2 เท่า สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรือการไอจาม นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำมือมาสัมผัสตา จมูก หรือปาก
อาการของโรคไข้หวัดธรรมดา
– ไข้ต่ำ
– น้ำมูกใส
– คัดจมูก
– ไอ จาม
– ปวดเมื่อยตามตัว
การป้องกันและการดูแล
– สอนเด็กให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
– ให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอและดื่มน้ำมากๆ
– กินยาลดไข้ หรือกินยาตามอาการ
– สวมหน้ากากอนามัย
– สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่นและเหมาะสมกับสภาพอากาศ
2. โรคไข้หวัดใหญ่
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน รวมถึงจมูก ลําคอ และปอด เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถติดต่อได้ง่ายเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา คือผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำมือมาสัมผัสตา จมูก หรือปาก แต่มักมีอาการที่รุนแรงกว่า
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
– มีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก
– ปวดศีรษะรุนแรง
– ปวดเมื่อยตามตัว
– ไอแห้ง เจ็บคอ มีน้ำมูก
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ถ่ายเหลว ท้องเสีย
– อ่อนเพลีย
*หากลูกน้อยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลําบาก มีภาวะขาดน้ำ ปากเขียว ชัก หรือปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน*
การป้องกันและการดูแล
– สอนลูกให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
– กินยาตามอาการ หรือกินยาลดไข้
– เช็ดตัวลดไข้
– ให้เด็กพักผ่อนมากๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ
– หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
– สวมหน้ากากอนามัย
*ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเด็กสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป*
3. โรคปอดบวม
โรคปอดบวม หรือโรคปอดอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในถุงลมปอด จนทำให้เกิดการอักเสบ ยิ่งในช่วงที่มีอากาศหนาว เด็กจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งยังมักเกิดหลังไข้หวัดเรื้อรัง หรือผู้ที่เป็นโรคหอบหืด สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย เช่น การไอ จาม หรือการสัมผัสใกล้ชิด นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ
อาการของโรคปอดบวม
– มีไข้สูง เหงื่อออกมาก หนาวสั่น
– ไอมีเสมหะมาก
– หอบเหนื่อย
– แน่นหน้าอก
– หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก
– ซึมลง
การป้องกันและการดูแล
– สอนให้ลูกรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆ
– กินนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก
– หลีกเลี่ยงการพาลูกไปสถานที่แออัด
– หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ รวมถึงมลพิษทางอากาศ
*โรคปอดบวมสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน*
4. โรคอุจจาระร่วง (ไวรัสโรต้า)
โรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการท้องเสียรุนแรงในเด็กเล็ก สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี สามารถติดต่อได้จากรับเชื้อทางปาก การกินอาหาร กินน้ำ หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรค เมื่อเด็กสัมผัสและเอามือเข้าปาก ก็จะทำให้เชื้อโรคเข้าสูร่างกายโดยตรง
อาการของโรคอุจจาระร่วง (ไวรัสโรต้า)
– มีไข้
– อาเจียน
– ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ 3-7 วัน
– อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
การป้องกันและการดูแล
– ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนรับประทานอาหาร
– ดื่มน้ำสะอาด และอาหารปรุงสุก
– กินนมแม่
– ให้เด็กดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
– หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นเสมอ
*คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าให้ลูกน้อยได้ ด้วยการรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน สำหรับเด็กวัย 2-6 เดือน*
5. โรคอีสุกอีใส
เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 (HHV-3) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงการหายใจเอาละอองฝอย เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วยด้วย
อาการของโรคอีสุกอีใส
– มีไข้ 1-2 วัน
– ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
– เบื่ออาหาร
– มีตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย
– อาจมีการถ่ายเหลวร่วมด้วย
การป้องกันและการดูแล
– ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ
– ไม่เกาหรือแกะแผล
– ดูแลแผลให้สะอาดอยู่เสมอ
– ไม่ควรอาบน้ำอุ่น เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้ง
– เลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น จนกว่าแผลจะตกสะเก็ด
– รักษาความสะอาดของใช้รอบตัว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
*การฉีดวัคซีนโรคอีสุกอีใส สามารถช่วยป้องกันได้ 70-85% โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน*
6. โรคหัด
เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อไวรัส Measles พบบ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 0-4 ปี โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ สามารถติดต่อได้จากละอองฝอยขนาดเล็กในอาการ รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผูัป่วย ซึ่งเชื่อไวรัสตัวนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 ชั่วโมงในอากาศ หรือบนพื้นผิวสิ่งของ
อาการของโรคหัด
– มีผื่นแดงที่หน้า แขน ขา ลำตัว ไรผม
– มีจุดสีเทาขาวในกระพุ้งแก้ม
– มีไข้ ไอ น้ำมูก ปากแดง
– ตาแดง ตาแฉะ
– อาจมีการถ่ายเหลวร่วมด้วย
การป้องกันและการดูแล
– ดื่มน้ำมากๆ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
– ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดรอบตาเบาๆ
– พักผ่อนในที่แสงน้อย ไม่ให้แสงแยงตา
– แยกผู้ป่วยออกจากผู้อื่น
– กินยารักษาตามอาการ
*โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 9 เดือน*
ถ้าลืมพาลูกไปฉีดวัคซีน ป้องกันโรคฮิตหน้าหนาว ต้องทำยังไง
หมอคู่คิดส์พร้อมเสิร์ฟบริการดี ฟรี และดีต่อใจสำหรับพ่อแม่ กับฟังก์ชัน “บันทึกวัคซีน” ในแอปฯ ให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนการบันทึกวัคซีนในสมุดแบบเดิมๆ สู่การบันทึกวัคซีนของลูกน้อยผ่านแอปฯ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหลัก วัคซีนเสริม หรือวัคซีนอื่นๆ ก็สามารถบันทึกได้แบบครบ จบในมือถือเครื่องเดียว ใช้งานง่าย ไม่มีลืม เพราะมาพร้อมกับระบบแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดฉีดวัคซีนของลูก
สรุปเรื่องโรคฮิตประจำหน้าหนาว
แม้โรคในฤดูหนาวจะมีหลายโรค แต่การป้องกันโรคต่างๆ นั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็กๆ อย่างถูกวิธี ด้วยการหมั่นเช็กอาการ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ก็จะทำให้สุขภาพของลูกน้อยปลอดภัยตลอดฤดูหนาวนี้
คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android