fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ทำความรู้จัก! อะดีโนไวรัส เชื้อร้ายที่เด็กเล็กต้องระวัง

อะดีโนไวรัส

ทำความรู้จัก! อะดีโนไวรัส เชื้อร้ายที่เด็กเล็กต้องระวัง

โดย : หมอคู่คิดส์ | 22 สิงหาคม 2024 | บทความทางการแพทย์

Highlight
– อะดีโนไวรัส ส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย หรือตาแดง
– หากเด็กอยู่น้อยกว่า 3 เดือนติดเชื้อ อาจมีอาการรุนแรงได้
– พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการลูกน้อยอยู่เสมอ หากซึม ไม่กิน ไม่เล่น ให้รีบพบแพทย์
– เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วัน พบได้ตามพื้นที่พื้นผิวต่างๆ จึงระบาดได้ทั้งปี

อะดีโนไวรัส

ในโลกนี้มีเชื้อหรือโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นมากมาย จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ตามไม่ทัน เช่นเดียวกับ “อะดีโนไวรัส” ที่หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อมากนัก แต่สามารถส่งผลให้เกิดหลายโรคได้กับลูกน้อย โดยในบทความจะพาไปทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสตัวนี้กันให้มากขึ้น

อะดีโนไวรัส คืออะไร

อะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นกลุ่มของไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ หรือส่งผลให้เกิดโรคได้ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคตาแดง หรือโรคทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกันจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งเชื้อร้ายตัวนี้ยังสามารถระบาดได้ทั้งปี ไม่ได้สัมพันธ์กับช่วงเวลาหรือฤดูกาลใดเป็นพิเศษ

ชนิดของโรคที่เกี่ยวข้องกับอะดีโนไวรัส

อะดีโนไวรัสสามารถก่อให้เกิดอาการได้ในหลายระบบในร่างกาย ขึ้นอยู่กับประเภทของไวรัสและภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังนี้

โรคทางเดินหายใจ

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอะดีโนเป็นส่วนใหญ่ จะมีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด เจ็บคอ จนถึงอาการหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบที่รุนแรงในบางกรณี โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

โรคตาแดงอักเสบ

อะดีโนไวรัสเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายในสภาพแวดล้อมที่แออัด

โรคทางเดินอาหาร

เชื้อไวรัสอะดีโนบางสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดการอักเสบในทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการท้องร่วง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

โรคติดเชื้อในระบบอื่นๆ

ในบางรายไวรัสอะดีโนอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ ระบบประสาท หรือแม้กระทั่งหัวใจ แต่กรณีนี้พบได้น้อยกว่าอาการอื่นๆ

อะดีโนไวรัส_2

ไวรัสอะดีโนในเด็ก มีอาการอย่างไร

สำหรับไวรัสอะดีโนนั้น สามารถส่งผลให้เด็กมีอาการป่วยได้หลายรูปแบบ อาทิ

– อาการหวัด ไอแห้ง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย นอนกรน ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล

– อาการตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา

– เจ็บคอ เกิดการอักเสบในลำคอ มีไข้ หรือกลืนอาหารลำบาก

– ท้องเสีย อาเจียน หรือมีไข้ในบางราย

การติดต่อของอะดีโนไวรัส

ในส่วนของการติดต่อของอะดีโนไวรัสสามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของละอองฝอย เช่น การไอจามรดกัน นอกจากนี้สามารถติดต่อได้ทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมไปการติดต่อทางอ้อมจากสิ่งของที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ สำหรับเชื้อไวรัสอะดีโนนั้นสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วันตามพื้นผิวต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม

การวินิจฉัยและการรักษาอะดีโนไวรัส

การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากไวรัสอะดีโนมักจะใช้การวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสจากตัวอย่างที่ได้จากระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือการเพาะเลี้ยงเชื้อในหลอดทดลอง แพทย์อาจใช้การตรวจน้ำมูกหรือน้ำลายเพื่อหาร่องรอยของไวรัสเพื่อประกอบการวินิจฉัย แต่เนื่องจากอาการของโรคที่เกิดจากไวรัสอะดีโนมักจะไม่เฉพาะเจาะจงเท่ากับโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น การวินิจฉัยจึงอาจจำเป็นต้องประกอบกับการวิเคราะห์อาการร่วมด้วย

ในส่วนของการรักษา หากได้รับเชื้อไวรัสอะดีโนแล้ว จะเป็นการรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาต้านไวรัส พ่อแม่ต้องดูแลลูกน้อยเป็นพิเศษด้วยให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ล้างจมูก หากมีไข้สูงสามารถกินยาลดไข้ได้ แต่หากพบว่ามีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

อะดีโนไวรัส_3

การป้องกันเชื้อไวรัสอะดีโน

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสอะดีโนในเด็ก สามารถทำได้ด้วยการใช้วิธีการป้องกันทั่วไปที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น

– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่

– หลีกเลี่ยงการเดินทางไปสถานที่แออัด

– สอนให้ลูกปิดจมูกเวลาไอหรือจาม

– ดูแลความสะอาดภายในบ้าน

– หมั่นเช็ดทำความสะอาด โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่นลูก

*สำหรับการกำจัดเชื้อโรคนั้น ควรใช้ความร้อน สบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ ในการกำจัดเชื้อโรค*

อะดีโนไวรัส_4

สรุปเรื่องของอะดีโนไวรัส

อะดีโนไวรัสเป็นไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคหลากหลายในมนุษย์ การป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพคือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานและไม่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ โดยทั่วไปการติดเชื้อจากอะดีโนไวรัสนั้นไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การรู้จักวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อและแพร่กระจายไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย อาการเจ็บป่วย พัฒนาการเด็ก หรือเรื่องอื่นๆ  รวมไปถึงปัญหาสุขภาพใจหลังคลอดของคุณแม่ สามารถโหลดแอปฯ หมอคู่คิดส์ เพื่อปรึกษาแพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ทันที ใช้งานง่าย คุยได้ตลอด ผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล ดาวน์โหลดและปรึกษาเลยวันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม