fbpx

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

RSV ไวรัสตัวร้าย ภัยอันตรายของลูกน้อย

โรคติดเชื้อ RSV_1

RSV ไวรัสตัวร้าย ภัยอันตรายของลูกน้อย

โดย : หมอคู่คิดส์ | 18 กันยายน 2023 | บทความทางการแพทย์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย : พญ. กวิตา ตรีเมธา กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ

ในช่วงฤดูฝนถือเป็นช่วงที่ต้องดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ ด้วยสภาพอากาศและปัจจัยต่างๆ จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส แต่โดยส่วนมากแล้วมักเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza), พาราอินฟูเอนซ่า (parainfluenza), อะดีโนไวรัส (adenovirus) ,ไรโนไวรัส (rhinoviruses) และที่พบได้บ่อย คือ เชื้อไวรัส RSV โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ถือเป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งของน้องๆ หนูๆ เลยก็ว่าได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรทำความรู้จักเชื้อไวรัส RSV ให้มากขึ้น เพื่อการป้องกันและช่วยดูแลลูกน้อยได้อย่างทันท่วงที

โรคติดเชื้อ RSV_1

RSV คืออะไร

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก ทำให้เป็นหวัดไปจนถึงหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ โดยส่วนมากแล้วประมาณ 80% จะก่อโรคในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มักระบาดในช่วงฤดูฝนไปจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว สำหรับประเทศไทยได้แก่ เดือนสิงหาคม ถึง เดือนธันวาคม

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ในเด็ก

อาการในช่วงแรกจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล บางรายอาจมีอาการถ่ายเหลว ซึ่งในรายที่ไม่รุนแรงจะสามารถหายเองได้ แต่ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตน้องได้จากอาการเหล่านี้

– ไข้สูง หอบเหนื่อย ไอมาก
– หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงครืดคราด
– ซึม ไม่เล่น ไม่กินน้ำ ไม่กินนม ไม่กินอาหาร

กรณีที่รุนแรงมากขึ้นเกิดจากการลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง (เชื้อลงปอด) หรือหลอดลมส่วนปลายและปอดอักเสบนั่นเอง ดังนั้นหากพบว่าลูกน้อยมีอาการเบื้องต้นดังที่กล่าวไป คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาน้องไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยให้รักษาและติดตามอาการได้เร็ว ช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น

ไวรัส RSV ติดต่อได้อย่างไร

ไวรัส RSV ติดต่อได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงได้แก่ผ่านละอองฝอยจากการไอจาม ส่วนทางอ้อมตือการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสเกาะอยู่ เช่น พิ้นผิวของของใช้ หรือของเล่น ทั้งนี้ไวรัส RSV สามารถเกาะบนพื้นผิวได้เป็นเวลานาน ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV สามารถแพร่เชื้อได้นาน 3-8 วัน หลังจากมีอาการ แต่ในเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจแพร่กระจายเชื้อได้นานกว่านั้น เคยมีรายงานนานที่สุดถึง 4 สัปดาห์

โรคติดเชื้อ RSV_2

การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

ในปัจจุบันโรค RSV ยังไม่มีการรักษาจำเพาะ เพราะยังไม่มียาต้านไวรัส RSV ดังนั้นการรักษาหลักเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การใช้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ล้างจมูก หรือในบางครั้งอาจจำเป็นต้องพ่นยาขยายหลอดลม แต่ไม่มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ หากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
เราจะป้องกันไม่ให้ลูกติดเชื้อ RSV ได้อย่างไร

ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์เพื่อให้ภูมิส่งผ่านไปให้ทารกที่เกิดมา แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ฉีดป้องกันให้เด็กโดยตรง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจการดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตประจำวันอย่างถูกสุขลักษณะ โดยข้อแนะนำมีดังนี้

– หากสามารทำได้ ควรให้น้องดื่มนมแม่ อย่างน้อย 6 เดือน ในเด็กวัยอื่นๆควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
– สร้างเสริมให้ลูกล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำสบู่ ด้วยวิธีที่ถูกต้องจนเป็นนิสัย
– เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
– ทำความสะอาดบ้าน ของใช้ ของเล่น ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ
– กรณีมีเด็กป่วย ให้แยกออกจากผู้ที่ยังไม่ป่วย
– หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด หากมีความจำเป็นควรให้เด็ก (ที่อายุ 2 ปีขึ้นไป) สวมหน้ากากอนามัย
– ไม่พาเด็กไปอยู่ใกล้คนป่วยหรือคนที่กำลังเป็นหวัด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่

ข้อสงสัยอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับโรค RSV

ได้เรียนรู้ถึงอาการ การติดต่อ การรักษา และการป้องกันการติดเชื้อ RSV กันไปแล้ว แต่เราเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจยังมีข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับไวรัสตัวร้ายตัวนี้กันอยู่ เราเลยรวบรวมข้อสงสัยอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้มาฝากเพิ่มเติมกันอีก ดังนี้

เราจะแยกโรค RSV กับไข้หวัดธรรมดาได้อย่างไร?

สำหรับเด็ก หากอาการไม่รุนแรง จะเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่หากมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ได้แก่ มีไข้สูง 39 องศาขึ้นไป หรือไข้สูงจนชัก หอบเหนื่อย หายใจมีอกบุ๋ม ไม่ยอมกินหรืออาเจียนมากจนอ่อนเพลีย อาจตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื้อ RSV ได้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย โดยการตรวจร่างกายและตรวจหาเชื้อด้วยการเก็บน้ำมูกในโพรงจมูก (Swab) เหมือนการตรวจโควิด-19

เด็กที่ติดเชื้อ RSV แล้ว มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่

– ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 35 สัปดาห์)
– เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน
– ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต
– ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น
– ผู้ที่เป็นโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
– ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การมีประวัติสัมผัสควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และหลังเกิด

มีกระแสข่าวว่าการดื่มนมวัวจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV และหากติดแล้วจะมีอาการรุนแรง จริงหรือไม่

ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มนมวัวกับการติดเชื้อ RSV และความรุนแรงของโรค แต่มีงานวิจัยพบว่าทารกที่ได้รับนมแม่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ RSV น้อยกว่า

โรคติดเชื้อ RSV_3

หากเป็นโรค RSV แล้ว ต้องไปพบแพทย์เมื่อไร?

หากพบว่าลูกมีอาการไข้สูง ซึม กินได้น้อยลง หายใจเหนื่อย หรือตัวเขียว ถือเป็นสัญญาณที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาน้องไปพบแพทย์โดยด่วน
อาการแบบไหนที่ต้องนอนโรงพยาบาล?

สำหรับอาการของโรค RSV ที่ต้องนอนโรงพยาบาล มีดังนี้

– มีการหายใจลำบาก หยุดหายใจ หรือภาวะหายใจล้มเหลว
– ภาวะขาดน้ำ หรือกินไม่ได้
– เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง
– ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลลูกได้

หากลูกเป็นโรค RSV จำเป็นต้องหยุดเรียนไหม?

ในช่วงที่น้องป่วยควรหยุดเรียน งดการไปที่สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานที่ชุมชนที่มีความแออัด นอกจากนี้ยังควรงดไปพบปะกับเด็กคนอื่นหรือผู้สูงอายุ ควรแยกตัวลูกไว้จนกว่าจะหาย เมื่อแน่ใจว่าหายดีแล้ว จึงสามารถไปเรียนได้ตามปกติ

ผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อ RSV ได้ไหม?

จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อย โดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการโรค RSV ในผู้ใหญ่มักไม่ต่างจากไข้หวัด แต่ในกลุ่มเสี่ยงอาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เป็นปอดอักเสบได้เช่นกัน

โรคติดเชื้อ RSV_4

สรุปเรื่องราวของโรค RSV

ฤดูฝนถือเป็นฤดูที่มาพร้อมโรคภัยต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV ตัวร้าย ที่ถือเป็นภัยอันตรายของลูกน้อยอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องการล้างมือและสุขลักษณะโดยรวม เพื่อช่วยป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกลจากไวรัส RSV

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่สังเกตอาการของลูกแล้วยังไม่แน่ใจว่าใช่โรคติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ สามารถปรึกษาเบื้องต้นได้กับผู้เชี่ยวชาญในแอปฯ หมอคู่คิดส์ ที่มีทั้งหมอเฉพาะทางและพยาบาลมากประสบการณ์ คอยให้แนะนำผ่านระบบแชทและวิดีโอคอล

ดาวน์โหลดแอปฯ “หมอคู่คิดส์” ได้แล้ววันนี้! ทั้งในระบบ iOS และ Android

อ้างอิง :

  • Colosia A, Costello J, McQuarrie K, Kato K, Bertzos K. Systematic literature review of the signs and symptoms of respiratory syncytial virus. Influenza and Other Respiratory Viruses. 2023 Feb;17(2):e13100.
  • แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก พ.ศ. 2562 โดย สมาคมโรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติในเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  • Mineva GM, Purtill H, Dunne CP, Philip RK. Impact of breastfeeding on the incidence and severity of respiratory syncytial virus (RSV)-associated acute lower respiratory infections in infants: a systematic review highlighting the global relevance of primary prevention. BMJ global health. 2023 Feb 1;8(2):e009693.

โหลดแอปพลิเคชัน
และเริ่มปรึกษาได้เลย

“หมอคู่คิดส์” แอปฯ หมอเด็กออนไลน์

ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม